สทนช. สร้างต้นแบบจัดการน้ำชุมชน 4จังหวัดนำร่อง แก้ปัญหาน้ำยั่งยืน

สทนช. สร้างต้นแบบการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพิ่มศักยภาพการปรับตัวกับสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลง

  • พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำระดับชุมชน
  • เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลเป็นระดับลุ่มน้ำ
  • เสริมความเข้มแข้งที่รากฐานพร้อมร่วมแก้ไขปัญหาด้านน้ำ

วันนี้ (2 ก.ย.66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขับเคลื่อนการจัดการและวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำระดับชุมชน ณ ตำบลเกาะขนุน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้สทนช. ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. มุ่งสร้างต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง พร้อมปรับตัวกับสถานการณ์น้ำที่ผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยตนเอง โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ การเป็นภาคีเครือข่ายร่วมวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ใช้น้ำภาคประชาชน ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรผู้ใช้น้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระยะแรกจะดำเนินการในเดือนกันยายน 2566 ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ขอนแก่น และน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก และชุมชนที่พร้อมเรียนรู้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของชุมชนด้วยตนเอง

สำหรับกิจกรรมหลักในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ มุ่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ทักษะการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการติดตามสถานการณ์น้ำเบื้องต้น ความรู้พื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศ การจัดทำผังน้ำ บัญชีน้ำ สมดุลน้ำ แนวทางฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ ตัวอย่างความสำเร็จการจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเอง การสมัครเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ การวางแผนจัดการน้ำ และการเสนอโครงการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการของบประมาณ และช่องทางติดตามการดำเนินโครงการที่ชุมชนเข้าถึงได้ โดยมีการแบ่งกลุ่มปฏิบัติ แลกเปลี่ยนแนวคิด และวางแผนร่วมกัน ด้วยข้อมูลจริงของชุมชน

อย่างไรก็ตาม การสร้างต้นแบบการจัดการน้ำชุมชนร่วมกันของ สทนช. และ สสน. ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรอบรม การจัดการและวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำระดับชุมชน เกิดความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายร่วมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นำร่อง ด้วยความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะในการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบในชุมชนตามแนวพระราชดำริ พร้อมทั้งสามารถวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำระดับชุมชน ร่วมกับองค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม ตามบริบทและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ รวมทั้งร่วมขับเคลื่อน ติดตามประเมินผล และพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ผสานและต่อยอดตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ลุ่มน้ำย่อย และครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักในอนาคต

“การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริด้วยความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ จะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งในการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ จากการมีส่วนร่วมที่ตรงกับความต้องการของประชาชน ประหยัดงบประมาณ และหนุนเสริมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และต้นแบบระดับชุมชนนี้ จะขยายผลเป็นระดับลุ่มน้ำที่พร้อมปรับตัวและร่วมแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่ยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช.กล่าว.