ถ้อยแถลง “เศรษฐา” บนเวทีระดับโลกครั้งแรก โดนใจเลขาธิการยูเอ็น

ถ้อยแถลง “เศรษฐา” บนเวทีระดับโลกครั้งแรก โดนใจเลขาธิการสหประชาชาติ ชื่นชมบทบาทนายกรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ

  • ได้รับคัดเลือกเป็นถ้อยแถลงที่ดีที่สุด 1ใน38 ประเทศจาก 193 ประเทศ ที่นำเสนอได้อย่างสร้างสรรค์
  • ขอขอบคุณความสัมพันธ์และความร่วมมือ ที่ไทยมีต่อยูเอ็น
  • และยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับไทยในฐานะเป็นที่ตั้ง ของสำนักงานยูเอ็นในภูมิภาค

วันนี้ (21 กันยายน 2566) เวลา 15.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับ นายอันโตนิอู กุแตเรช (H.E. Mr. António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78)

เลขาธิการสหประชาชาติแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ และชื่นชมข้อเสนอนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอได้อย่างสร้างสรรค์ในการประชุมระดับผู้นำ Climate Ambition  Summit ซึ่งไทยได้รับเลือกเป็น 1 ในสาม 38 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศ  รวมทั้ง ยูเอ็น ขอขอบคุณความสัมพันธ์และความร่วมมือ ที่ไทยมีต่อยูเอ็น และยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับไทยในฐานะเป็นที่ตั้ง ของสำนักงานยูเอ็นในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสัมพันธ์กับยูเอ็น และตั้งใจจะเพิ่มพูนความร่วมมือต่อกัน ไทย และยูเอ็น มีประเด็นความร่วมมือที่ดำเนินการสอดคล้องกัน เช่น ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ร่วมมือต่อสู้กับความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อม Green Finance Green bond และต้องการเห็นความร่วมมือของทุกประเทศเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

สำหรับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในเวทียูเอ็น เมื่อวันที่ 19กันยายนที่ผ่านมา ที่สำคัญได้แก่ การมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อน การจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน จะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย ร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่ง สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

นายกรัฐมนตรีมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

1. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

2. ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ 2027

3. ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030