สมาคมฯ ยาสูบ – สมาคมฯ ผู้เพาะปลูก วอนรัฐปราบบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า จริงจัง!

ปราบบุหรี่เถื่อน
สมาคมฯ ยาสูบ - สมาคมฯ ผู้เพาะปลูก วอนรัฐปราบบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า จริงจัง!


สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ และสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย ออกแถลงการณ์ วอนภาครัฐจัดการปัญหาบุหรี่เถื่อน หนีภาษี บุหรี่ไฟฟ้า แบบเอาจริง ชี้หากแก้จุดนี้ไม่สำเร็จ การปรับอัตราภาษีเป็นเทียร์เดียว ก็ไร้ประโยชน์ บุหรี่ถูกกฎหมายก็จะมีราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะหันไปหาซื้อบุหรี่หนีภาษีอยู่ดี ลั่นหากเป็นแบบนี้ต่อไป ชะตาบุหรี่ไทยมีล่มสลาย รายได้รัฐหด ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 พ.ย.67) สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ และสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอุตสาหกรรมอละอนาคตของนาสูบไทย ได้จัดประชุมเสวนา ภายใต้หัวข้อ อนาคตผู้ค้าส่ง และชาวไร่ยาสูบ กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ 

โดยที่ประชุมมีมติออกแถลงการณ์ร่วม โดยเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งรัดการปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากได้สร้างความเสียหาย ต่ออุตสาหกรรมยาสูบไทยเป็นอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดของสินค้ากลุ่มดังกล่าว มีมากกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 เป็นต้นมา  

ด้านนายธานินทร์ หิรัญโชติ นายกสมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ กล่าวว่า เหตุผลที่ทั้ง 2 สมาคมฯ ต้องออกแถลงการณ์ร่วมในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจปัญหาของอุตสาหกรรมยาสูบไทยมากขึ้น เพราะหลังจากการปรับโครงสร้างภาษีมาตั้งแต่ปี 60 ได้ส่งผลทำให้รายได้ของภาครัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง 

แต่สวนทางกับตลาดของบุหรี่เถื่อน บุหรี่หนีภาษี บุหรี่ไฟฟ้า หาซื้อได้ง่าย และราคาถูกมาก ส่งผลให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ ที่ดำเนินการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มียอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ เหตุยอดขายลดลง การรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกร ก็ลดลงตามไปด้วย 

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล เชื่อว่าอุตสาหกรรมยาสูบไทยต้องล้มสลาย และชาวไร่ยาสูบเลิกปลูกยาสูบ เพราะรายได้ลดลงต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เป็นอาชีพที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลาย 10 ปี

“เวลานี้อยากให้ภาครัฐจริงจัง ในเรื่องการปราบปรามบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟ้ฟา มากกว่านี้ เพราะถ้าแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวไม่สำเร็จ การที่จะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นแบบ 1 เทียร์ หรือ 2 เทียร์ ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะราคาบุหรี่ที่เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะมีราคาแพง ขณะที่ราคาบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า มีราคาที่ถูกมาก อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายอีกด้วย” 

นายธานินทร์ กล่าวด้วยว่า การแถลงการร่วมวันนี้ ยังมีข้อกังวลใจหากร่างกฎกระทรวงฯ การกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยหากมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่วางจำหน่ายในประเทศ ไม่สามารถใส่สารปรุงรสต่างๆ ได้ ตามวัตถุประสงค์ในการลดจำนวนผู้บริโภคยาสูบลง 

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ โดยผู้บริโภคเพียงแค่เลิกการซื้อบุหรี่รสชาติจืดที่ไม่ใส่สารปรุงแต่ง ซึ่งเป็นบุหรี่ที่ถูกกฎหมาย และเปลี่ยนไปซื้อบุหรี่ผิดกฎหมายที่ไม่ถูกควบคุมโดยกฎหมาย สามารถใส่สารปรุงแต่งได้แทน ดังนั้นการออกร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ในทางปฏิบัติ 

อีกทั้งจากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของบุหรี่ผิดกฎหมาย และบุหรี่ไฟฟ้า ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยทั้ง 2 ภาคส่วนมีความเห็นร่วมกันว่า ทางภาครัฐควรพิจารณาและทบทวนอัตราภาษีที่ไม่ทำให้บุหรี่ถูกกฎหมาย มีราคาแพงขึ้น เพื่อลดภาระการเสียเปรียบทั้งการแข่งขันทางการตลาด การควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมายอันมีผลต่ออนาคตตลาดยาสูบไทย และการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดเก็บภาษียาสูบ มีทิศทางที่ลดลงต่อเนื่อง โดยปี 61 จัดเก็บได้ 68,548 ล้านบาท ปี 62 จัดเก็บได้ 67,410 ล้านบาท, ปี 63 จัดเก็บได้ 62,905 ล้านบาท, ปี 64 จัดเก็บได้ 64,200 ล้านบาท, ปี 65 จัดเก็บได้ 59,784  ล้านบาท, ปี 66 จัดเก็บได้ 57,683 ล้านบาท และปี 67 จัดเก็บได้  51,248 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายได้และกำไร ของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลต่อการนำส่งรายได้ให้ภาครัฐด้วย โดยปี 60 มีกำไรสุทธิ 9,343 ล้านบาท ปี 61 กำไร 843 ล้นบาท ปี 62 กำไร 513 ล้านบาท ปี 63 กำไร 550 ล้านบาท ปี 64 กำไร 1,041 ล้านบาท ปี 65 กำไร 120 ล้านบาท ปี 66 กำไร 221 ล้านบาท และปี 67 กำไร 738 ล้านบาท

สมาคมการค้าผู้ขายส่งยาสูบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : การยาสูบยันดูแลชาวไร่เต็มที่ แม้ผลดำเนินธุรกิจแสนบอบช้ำ