เหลียวหลังแลหน้า จาก “ทักษิณ” สู่ “แพทองธาร”

ทักษิณ แพทองธาร
เหลียวหลังแลหน้า จาก “ทักษิณ” สู่ “แพทองธาร”


หากเหลียวหลังไปประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในห้วงของรัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารประเทศอย่างถอนรากถอนโคน ไม่มียุคใดสมัยใดที่การบริหารประเทศจะเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้

การเมืองไทย
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภาครัฐเร็วกว่าภาคเอกชน

สาเหตุก็เพราะหัวขบวนภาครัฐเคยเป็นหัวขบวนภาคเอกชนมาก่อน จากเดิมภาคราชการจะเป็นผู้กำหนดการบริหารประเทศ เพราะรัฐบาลไม่มีความเข้มแข็ง เป็นรัฐบาลหลายพรรค ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว 

การที่รัฐบาลบริหารประเทศขณะที่ประเทศยังไม่ฟื้น แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วก็ยังต้องมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องผลักดันโดยเร่งด่วน

ในห้วงที่รัฐบาลทักษิณได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของประเทศภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลก ตลอดจนความผันผวนนานัปการที่เข้ามารุมล้อม โดยใช้ ”ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบคู่ขนาน“ หรือ ”Dual Track Development Strategy“ คือการให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและบริการเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบคู่ขนาน ซึ่งถือเป็น Grand Strategy พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ก็ได้นำเสนอ “โมเดลประเทศไทยในโลกที่หนึ่ง” ไว้ 7 ประการ ประกอบด้วย

1. มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและวัฒนธรรมของตน

2. มีบทบาทสำคัญในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก

3. มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

4. เป็นผู้นำโลกในบางอุตสาหกรรม

5. เป็นสังคมที่เต็มเปี่ยมด้วยความสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการเรียนรู้

6. มีผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันในเวทีโลก

7. เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี

น่าเสียดายที่ยังไม่ทันผลักดันโมเดลดังกล่าว รัฐบาลทักษิณก็ถูกปฏิวัติรัฐประหาร

และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรได้แสดงวิสัยทัศน์ และพูดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองไทยต่อจากนี้ ผ่านเวที Vision for Thailand 2024 พอจะสรุปได้ดังนี้

ประเด็นท้าทาย

• “คนไทยไม่ยิ้มเหมือนเดิม” อาจเพราะหนี้สินเยอะเเละโอกาสทางเศรษฐกิจน้อยเกินไป ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข 

• คนไทยพึ่งพามูเตลูหรือความเร้นลับมากไป สังคมไทยในต่างจังหวัด ลูกติดยาเยอะ แม่ติดหวย พ่อติดเหล้า ทำให้พลังในการสร้าง ศก. แย่ลง ทั้งที่ไทยต้องการคนวัยทำงานจำนวนมาก

• บ้านเมืองไม่สะอาด มีวิศวกรรม การก่อสร้างมากกว่าสถาปัตยกรรม การดูแลความสะอาดในโครงสร้างพื้นฐานต่ำไป เพราะไม่มีเจ้าภาพในการรับผิดชอบ ต่างคนต่างอยู่และมุ่งหาความสำเร็จขององค์กรตัวเองเป็นหลัก 

• “ความเป็นชาติ คือ การนึกถึงส่วนร่วม บ้านเมืองจะดีอย่างไรและเราจะมีส่วนช่วยอย่างไร”

• คนไทยติด “กับดักหนี้” ทำให้เดินไม่ออก หนี้สินของรัฐแก้ไม่ยาก ถ้าทำให้ GDP เติบโตได้ “สัดส่วนหนี้สินต่อ GDP จะลดไปเอง” ถ้าขยายฐานภาษีจะทำให้สัดส่วนรายได้ต่อ GDP ดีขึ้น อำนาจการใช้หนี้จะดีขึ้น 

• หนี้ครัวเรือนของประชาชนกว่า 90% ไม่อยากเห็นคนไทยถูกยึดบ้านและรถ เสนอว่าต้องการมีการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน เรา haircut ปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจได้ เราจะ haircut  ภาคประชาชนได้หรือไม่

• เศรษฐกิจใต้ดินไทยสูงมากราว 50% ของเศรษฐกิจบนดิน ถ้าขึ้นบนดินได้ GDP เพิ่ม 50% ผลทำให้สัดส่วนหนี้ลดลงและความสามารถในการใช้หนี้เพิ่มขึ้น 

• ยาเสพติด มีผลกระทบต่อผู้คนอย่างมาก ปราบไม่ได้มาก เพราะฐานการผลิตอยู่ต่างประเทศ พ่อค้าในเมืองไทยมีแต่รายย่อย รายใหญ่มาส่งถึงที่ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือการนำคนติดยาไปบำบัด คือดึงดีมานด์-ความต้องการซื้อออก เพื่อให้ซัพพลาย-ความต้องการขายไม่ได้ 

• อุตสาหกรรมเราไม่ทันโลก เกษตรเป็นวิถีชีวิตนำ ด้านเทคโนโลยีก็ตามไม่ทัน 

• ตลาดหลักทรัพย์ ความไว้เนื้อเชื่อใจหายไป การจัดการและแก้ไข้กับปัญหาต่างๆ ไม่ฉับไวและแม่นยำ 

• นักธุรกิจไทยต้องไปสู้ในเวทีโลก โดยที่รัฐบาลสนับสนุนไปแข่งขัน ต้องคิดอย่างมียุทธศาสตร์ มีกำลังรบ 

• ค่าครองชีพแพงมาก ค่าพลังงานต้องนำเข้า โดยค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เราขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ราคาพลังงานลดลง 

• ระบบราชการใหญ่เทอะทะ ไม่ตอบสนองการบริการต่อประชาชน 

• ภูมิศาสตร์การเมืองโลก เป็นทั้งประโยชน์และต้นทุนของไทย โดยเฉพาะการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยต้องเตรียมตัวและประเมิน 

• จากภูมิศาสตร์การเมืองโลก เราต้องประเมินและปรับยุทธศาสต์ว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอะไรได้บ้าง 

• เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากโดยเฉพาะ AI  เราจะรับมืออย่างไร 

• “ไทยรู้ปัญหาตัวเองหมด แต่ว่าไม่ยอมแก้ปัญหา” เขาบอกนี่คือจุดอ่อนของไทย และรัฐบาลต้องหาเจ้าภาพในการแก้ไขแต่ละปัญหา 

แนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

• เรื่องโครงสร้างหนี้ กระทรวงการคลังต้องหารือกับสมาคมธนาคาร 

• กระทรวงการคลังต้องประสานกับแบงก์ชาติเพื่อให้นโยบายการเงินและการคลังไปในทางเดียวกัน โดยเคารพความอิสระของแบงก์ชาติ 

• ดิจิทัลวอลเล็ต ยิงนก 3 ตัวด้วยกระสุนนัดเดียว

1. กระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต ข้างหลังบ้าน คือ บล็อกเชน มี Smart Contract การควบคุมที่แม่นยำเพื่อให้อยู่ในพื้นที่ต่างๆ  เศรษฐกิจจะได้ชุ่มช่ำกันทั้งประเทศ

2. อยากให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยี “มันไม่ยาก”

3. อนาคตต่อไปจะใช้กับบริการของภาครัฐได้ทั้งหมด ซึ่งภาครัฐอาจจะออก หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ขายประชาชนรายย่อยผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 

• เมื่อมีคนค้านและไม่เข้าใจ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เริ่มใช้กับกลุ่มเปราะบาง 13.5 ล้านคน และกลุ่มคนพิการอีก 1 ล้าน รวม 14.5 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเบื้องต้นแสนกว่าล้านทันทีในเดือนกันยายน 2567 

• ในเดือนตุลาคม 2567 นี้ งบประมาณใหม่จะออก คนที่ลงไปทะเบียนเกือบ 30 ล้านคน ก็จะได้รับตามมา 

• ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แม่นยำกว่าเงินสด เพราะบางคนอาจจะนำเงินสดไปใช้ในส่วนที่กระตุ้นเศรษฐกิจหรือเกิดตัวคูณได้น้อยกว่า 

• ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ต้องไปชวนคนเข้ามาลงทุน โดยอดีตนายกฯ ยกตัวอย่าง  บริษัทเทคโนโลยี NVIDIA ที่จะขยายโอกาสอีกมหาศาลในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ไทยควรเป็นที่ Safe Haven หรือที่หลบภัยของภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด 

• “ใครอยากขายจีน ใครอยากขายอเมริกา ใครอยากขายยุโรป มาตั้งที่ประเทศไทยไม่มีปัญหา” เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ 

• เรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ มีนักลงทุนสนใจไทยจำนวนมาก แต่ติดปัญหาเรื่องค่าไฟและพลังงานสะอาด

• รถ EV ของจีนเข้ามา ขอให้ไทยเป็นศูนย์กลางฐานการผลิต “พวงมาลัยขวา” ได้ไหม 

• เรื่องระบบนิเวศของอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อไหร่ที่รถยนต์สันดาปเลิก ทำอย่างไรให้รถไฟฟ้าจากจีนมาใช้ส่วนประกอบในไทย หรือ Local Content ควรต้องเริ่มเจรจากันได้แล้ว 

• จีนกำลังพัฒนาและยิงดาวเทียมมหาศาล ไทยควรไปเจรจา 

• SME ไทยไม่รอด เพราะคล้ายกันไปหมด จนเจอสินค้าจากจีนเข้ามากวาดตลาด เราต้องเก่งมากขึ้นและดีไซน์ให้มีความพิเศษเพื่อแข่งขันให้ได้ รวมถึงต้องป้องกันและให้ความเป็นธรรมอย่างไม่ถูกเอาเปรียบ 

• ส่งเสริม “ซอฟต์พาวเวอร์” ในทุกรูปแบบ รวมถึง e-sport ศิลปะ แฟชั่น และอาหารไทย  

• ส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ได้กำไรที่มากขึ้น 

• เพิ่มศักยภาพจากการท่องเที่ยว “ขยายสุวรรณภูมิ” จากทำเลที่ตั้งของไทยเชื่อว่ามีโอกาสอีกมาก

• ผลักดัน “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” มีพื้นที่กาสิโนเพียงไม่เกิน 10%  การลงทุนแต่ละแห่งเกินแสนล้านบาท 

• การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ เช่น น้ำท่วม-น้ำแล้ง เสนอให้ถมทะเลบางขุนเทียน-ปากน้ำ เพื่อขยายความแออัดของ กทม.และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยให้เฉพาะรถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้น และพื้นที่ยังมีผลให้ป้องกันน้ำท่วม กทม. ได้ 

• เชื่อมโลกด้วยรถไฟความเร็วสูง กทม. – หนองคาย ต้องทำให้เสร็จเพื่อเชื่อมเส้นทางสายไหมของจีนได้ 

• รถไฟฟ้า 20 บาท ต้องทำให้ได้ โดยมีการเก็บค่าผ่านทางของรถยนต์ในเมืองหลวงและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบการจราจรดีขึ้น  

• จัดการทรัพยากรและเขตทับซ้อนทางทะเลกับเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน 

• เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เชิญธนาคารทั่วโลกมาตั้งในไทยเพื่อทำธุรกรรมต่างประเทศ แล้วแบงก์ไทยก็ไปตั้งในต่างแดนเพื่อใช้สิทธิเดียวกัน 

• แก้กฎหมายต่างชาติถือครองที่ดิน โดยมีกติกาที่คนไทยได้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจที่เติบโตและการเข้าถึง 

• การพนันออนไลน์ เงินไทยไหลออกมหาศาล เราจำเป็นต้องมีการจัดการภาษีและจัดการให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็น โดยเฉพาะในเชิงการศึกษา

• จัดการภาษีให้เป็นธรรมและเอื้อต่อการแข่งขันมากขึ้น ทั้งสำหรับการอยู่อาศัยและทำงาน โดยจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นระบบ 

• ปฏิรูประบบราชการ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและจำนวนคน เอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น 

ช่วงทิ้งท้าย ท่านให้ยอมรับความจริง

“เราอยู่ในระบบทุนนิยม ชอบไม่ชอบมันเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม แต่เศรษฐกิจทุนนิยม พังไปหลายที่เพราะขาดความเอื้ออาทร” 

“ถ้าไม่มีความเอื้ออาทรต่อคนไม่มีกำลังก็จะเป็นประเทศที่เติบโตลำบากและเติบโตไปอย่างพิการ”

“อยากให้คนไทยรักกัน  เราคนไทยด้วยกัน…ผมอยากเห็นคนไทยมีความสามัคคี”

“ผมรักและอยากเห็นบ้านเมืองดี พร้อมอยู่ข้างหลังช่วยคิดทั้งภาครัฐและเอกชน“ 

นี่คือ วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จากอดีตจวบจนปัจจุบัน

ประเด็นที่ท้าทายคือ นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรจะรับไม้ต่ออย่างไร ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ภายใต้โลกที่สุดโต่งและผันผวน ในขณะที่ประเทศไทยกำลังอ่อนแออย่างถึงที่สุด

หมายเหตุ: ส่วนของ Vision for Thailand 2024 สรุปโดย ประชาชาติธุรกิจ

พรรคเพื่อไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “แพทองธาร” ยัน ไม่มี “ทักษิณ” ครอบงำ