การบินไทย ครึ่งปีแรก67 ปลด 3 ล็อก เงินสด/ปรับทุน/เข้าตลาดปี68

การบินไทย
4 ผู้บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันประกาศผลการดำเนินงาน ไตรมาส 2 และครึ่งปีแรก 2567


“การบินไทย” ครึ่งปีแรก67 เร่งโชว์ผลงานปลดล็อก 3 เรื่อง “กำกระแสเงินสด” ไว้ในมือเกิน 2 หมื่นล้าน ดันทุนเป็นบวก “ปรับโครงสร้างทุน” พร้อมแปลงหุ้นเป็นทุนภายใน 31 ธ.ค.นี้ กลับเข้าซื้อขายใน “ตลาดหลักทรัพย์ไทย” ไตรมาส 2 ปี’68 ภายใต้แผนยืดหยุ่นลงทุนฝูงบินใหม่ full 45+ Option 35 ลำ และMRO ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานปี 2567 เมื่อ 9 สิงหาคม 2567ช่วงไตรมาส 2 ระหว่างเมษายน-มิถุนายน และ 6 เดือนหรือครึ่งปีแรก ระหว่างมกราคม-มิถุนายน

โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและบัญชี นายทวิโรจน์ ทรงกำนัล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร ร่วมกันนำเสนอรายละเอียด 3 เรื่องหลัก

เรื่องที่ 1 ผลการดำเนินงาน บมจ.การบินไทย และบริษัทย่อย (ที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ช่วงครึ่งแรกปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีความเคลื่อนไหวดังนี้

บมจ.การบินไทย
บมจ.การบินไทย และบริษัทยอด มีผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ทำรายได้รวม 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14 % มีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท

มี “รายได้รวม” 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.0%  มี “กำไร” จากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 17,001 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันกับปีก่อน 21.3% มี “กำไรสุทธิ” 2,738 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการณ์เล็กน้อย ต่างจากช่วงปีก่อนมีกำไร 14,795 ล้านบาท ปีนี้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มี “EBITDA” หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท ทำ EBITDA ได้สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ มี “ต้นทุนทางการเงิน” รับรู้ตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) 9,403 ล้านบาท มี “ค่าใช้จ่าย” 72,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.3% มี “รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว” ส่วนใหญ่จากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท

การบินไทย รายได้
บมจ.การบินไทย และบริษัทยอด ไตรมาส 2 ปี 2567 ทำรายได้รวม 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147.7 % มีกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท ลดลง 86.2 %

เฉพาะไตรมาส 2 ปี 2567 บมจ. การบินไทย และบริษัทย่อย ผลการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว มี“รายได้รวม” 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำไว้รวม 37,381 ล้านบาท แต่ลดลง 4.3% จากไตรมาสแรกปี 2567 มี “กำไร” จากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 5,925 ล้านบาท ต่างจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ทำกำไรไว้ 8,576 ล้านบาท มี “กำไรสุทธิ” 314 ล้านบาท ส่วนปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท มี “EBITDA” หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท

มี “ค่าใช้จ่าย” 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งเพิ่มขึ้น มี “ต้นทุน” รับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) 4,796 ล้านบาท มี “รายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว” ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท

ไตรมาส 2 ปี 2567 การบินไทยเปิดบินใหม่ระหว่างประเทศเพิ่ม 2 เส้นทาง ได้แก่ มิลาน อิตาลี และออสโล นอร์เวย์ โดยทำโค้ดแชร์กับคูเวตแอร์เวย์สขายตั๋วโดยสารเชื่อมต่อเครือข่ายไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและยุโรป ทำให้มีผู้โดยสารรวมไตรมาส 2 สูงถึง 3.81 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 73.2%

@จับตาการบินไทยยกเครื่องโครงสร้างทุนใหม่จบภายในสิ้นปี 67

เรื่องที่ 2 การบินไทย พร้อมปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 31 ธันวาคม 2567 โดยได้กำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนไว้ 2.5452 บาท/หุ้น รวมจำนวนหุ้น 31,500 ล้านหุ้น แบ่งเป็น 2 แนวทาง

การบินไทย
แผนปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 31 ธันวาคม 2567 จำนวนรวม 31,500 ล้านหุ้น ด้วย 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 แปลงหนี้เป็นทุนแบ่งให้เจ้าหนี้เดิม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เงินต้นเจ้าหนี้ตามแผนแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้กลุ่มเดิม (Mandatory Conversion) มีกระทรวงการคลัง รวม 5,040 ล้านหุ้น  มูลค่า 12,827 ล้านบาท กับเจ้าหนี้กับผู้ถือหุ้นกู้อีก 9,822 ล้านหุ้น มูลค่า 25,000 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ให้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) 4,911 ล้านหุ้น มูลค่า 12,500 ล้านบาท

แนวทางที่ 2 เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ

@ลั่นนำการบินไทยกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยQ2ปี’68

เรื่องที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและหุ้นของการบินไทยให้กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในไตรมาส 2 ปี 2568 เป็นต้นไป เพราะสามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบทั้ง 2 ข้อ คือมีกระแสเงินสดหมุนเวียนแนวโน้มตลอดทั้งปีเกิน 20,000 ล้านบาท  กับทำให้โครงสร้างทุนเป็นบวกได้จากอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยเกิน 80 %  ไตรมาส 3 ไม่น่าจะขาดทุนอัตราการแลกเปลี่ยนทางการเงิน

นายชาย เอี่ยมศิริ ซีอีโอ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทประเมินหลังปรับออกจากแผนฟื้นฟูกิจการจะไม่กังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงินเพราะมีอยู่เกิน 10,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่มีภารกิจหลักต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่อง “โครงสร้างทุน” ยังอ่อนแออยู่ ส่วนแผนใช้เงิน “ลงทุนอนาคตฝูงบินใหม่” ทำแผนคู่ขนานการบริหารจัดการสภาพคล่องไว้ 2 ส่วน

คือ ส่วนแรก ได้ลงนามคำสั่งซื้อไว้ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ซื้อเครื่องบินพร้อมเครื่องยนต์หรือ Full order รวม 45 ลำ แบบที่ 2 จัดหาเพิ่มเติมหรือ option Order อีก 35 ลำ

ซึ่งทำเผื่อไว้เป็นทางออกให้สามารถยกเลิกได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ส่วนที่สอง จัดทำค่าใช้จ่ายแบบตายตัว (fix cost) เรื่องการจ้างงานพร้อมยกเลิกได้เช่นกัน

การชำระหนี้ของ บมจ.การบินไทย
การชำระหนี้ของ บมจ.การบินไทย ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2567

ส่วนการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ในท่าอากาศยานอู่ตะเภา พัทยา และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก การบินไทยยืนยันจะเดินหน้าลงทุนต่อไปเพราะยังต้องมีศูนย์ซ่อมเครื่องบินเป็นของตนเอง โดยจะต้องฟังเงื่อนไขของทางอู่ตะเภา เนื่องจากขณะนี้พ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจแล้วยังคงได้สิทธิ์เหมือนเดิมหรือไม่ ถึงแม้จะมีฐานอยู่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็มีพื้นที่จำกัดส่วนดอนเมืองต้องรอความชัดเจนปี 2568

@ลุยขายตั๋วแบบเครือข่ายปั๊มตลาดบินใน/ต่างประเทศโต

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดการขยายฝูงบินต้องใช้เท่าที่มี 79 ลำ ก็จะทำแผนส่งเสริมตลาดเต็มที่ด้วยกลยุทธ์การขายแบบเชื่อมโยงเครือข่ายเที่ยวบิน “ในประเทศ” ใช้เส้นทางของไทยสมายล์เดิมบินทุกจุดและต่อไปยังกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง CLMV (กัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม)

ส่วนเที่ยวบิน “ระหว่างประเทศ” จะร่วมกับสายการบินพันธมิตร ตัวอย่างตลาดที่เติบโตเร็วอย่างอินเดียสามารถขายตั๋วต่อเครื่องบินไปออสเตรเลีย

หรือทางฝั่งเอเชียเหนือ ไตรมาส 4 ปีนี้เตรียมเปิดบินเพิ่มสู่ 4 เมื่องหลักคือ เดลี มุมไบ ละฮอล์ ส่วนอิสลามาบัดได้รับสิทธิการบินเรียบร้อยแล้วอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความชัดเจน ส่วนเที่ยวบินไกลยุโรป เตรียมเปิดบิน กรุงเทพฯ-บรัสเซล(เบลเยี่ยม) และตลาดอื่น ๆ อัตราบรรทุกผู้โดยสารเติบโตดีขึ้นตามสถานการณ์ท่องเที่ยวโลก

เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza

Thai Airways

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : การบินไทย ชู CSR ฝึกคนตาบอด เดินทางกับเครื่องบินจำลอง