กระทรวงศึกษาฯ ผนึกกำลังกรม สุขภาพจิต สปสช.เขต 13 และมูลนิธิกำแพงพักใจ ลุยโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และดูแล สุขภาพจิต วัยรุ่น นำร่องกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ กทม.
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับกรมสุขภาพจิต สปสช.เขต 13 และมูลนิธิกำแพงพักใจ ในโครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น โดยนำร่องกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุ 15-25 ปี มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน หรือเรียน/ทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,000 ราย ให้สามารถรับการปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา และอาสาสมัครผู้ดูแลใจ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงเดือน มิ.ย. 2568
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนภารกิจหลักด้านการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิต จากสถานการณ์สุขภาพจิตของผู้เรียนในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ และให้ความตระหนักเป็นอย่างมาก
มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ซึ่งได้นำนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษา และพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน ดูแลและให้การช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา
รวมทั้งมีการบูรณาการ การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการโครงการที่พักใจให้เยาวชนร่วมกันครั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยและเพิ่มมิติการดูแลและทำงานด้านสุขภาพจิต ทำให้ครูมีสื่อและช่องทางแนะนำนักเรียน นักศึกษาให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้ทันต่อสถานการณ์ มีความปลอดภัย เกิดการเรียนรู้ที่สมวัยอย่างมีความสุข
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีวิสัยทัศน์ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดีสู่สังคมและเศรษฐกิจมูลค่าสูง โดยการดูแลวัยรุ่นและเยาวชนไทยให้มีปัญญา อารมณ์ดี เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของสังคม โดยกรมสุขภาพจิตให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้แก่ จิตอาสา ผู้ที่ผ่านการอบรมให้เป็น “ผู้ดูแลใจ” ภายใต้ ‘โครงการที่พักใจให้เยาวชน’
เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต ให้สามารถรองรับการดูแล ช่วยเหลือสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเยาวชนในการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยกรมสุขภาพจิตจะเป็นหน่วยงานในการรับ ส่งต่อ ติดตาม ดูแล ฟื้นฟู อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว และเท่าเทียม
ด้านนางบุญสิงห์ มีมะโน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช.ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพจิตและตระหนักถึงการดูแลที่ต้องครอบคลุมถึงสุขภาพจิตของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2567 ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเปิดทางเลือกให้เยาวชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต มีความเสี่ยงต่อซึมเศร้าและ ฆ่าตัวตาย เข้าถึงบริการการประเมินความเครียด
โดยเข้ารับบริการให้การปรึกษาสุขภาพจิตทางไกล (Tele-mental health) โดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้สนับสนุนทางสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชันอูก้า ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เยาวชนเกิดการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตที่มีความทั่วถึง ถ้วนหน้า ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตสำหรับทุกคนในอนาคต ช่วยลดผลกระทบจากการตีตราในผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจและทำให้วัยรุ่นและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ กล่าวว่า มูลนิธิกำแพงพักใจ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ดีและมีคุณภาพแก่เยาวชน ได้ให้บริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 มากกว่า 3,000 ราย โดยในปี 2567 นี้ ได้รับการสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เยาวชนเข้าถึงโอกาสในการดูแลสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น
สำหรับเยาวชนหรือครู ที่ให้การปรึกษาสามารถแนะนำนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-25 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการที่พักใจให้เยาวชน ผ่านดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘อูก้า’ (ooca) และเลือกสิทธิ์ “กำแพงพักใจ” เพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ความสำเร็จของความร่วมมือในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายบริการการดูแลและให้การปรึกษาสุขภาพจิต การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ติดยานอนหลับ ภัยเงียบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต!