ดาวโจนส์ร่วงกว่า 200 จุด รอทิศทางดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ

ดาวโจนส์ร่วงกว่า 200 จุด รอทิศทางดอกเบี้ย-เงินเฟ้อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซื้อขายผันผวน ตลาดจับตาทิศทางดอกเบี้ยและตัวเลขเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้

  • มีแรงขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง รอตัวเลขเงินเฟ้อที่จะประกาศพรุ่งนี้
  • นักลงทุนคาด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจะไม่ลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย.นี้
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงต่อเนื่องต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2555

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซื้อขายผันผวน ตลาดจับตาทิศทางดอกเบี้ยและตัวเลขเศรษฐกิจ ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันพรุ่งนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 4.386% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.521%

เมื่อเวลาประมาณ 22.25น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 38,687.37 จุด ลดลง
205.43 จุด หรือ 0.53%  ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ 5,179.81 จุด ลดลง 22.58 จุด หรือ  0.43% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส อยู่ที่ 16,200.77 จุด ลดลง 53.18 จุด หรือ 0.33% 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ จะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมี.ค.ในวันพรุ่งนี้ โดยผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.2% ในเดือนก.พ.

นักลงทุนยังคงจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 19-20 มี.ค.ที่จะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนพากันเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ล่าสุด นักลงทุนให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. มากกว่าน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว โดยFedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 48.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 61.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงลงสู่ระดับ 88.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2555 และเป็นการปรับตัวต่ำกว่าระดับ 98 ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยในรอบ 50 ปีเป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน