“วราวุธ” วอนหยุดส่งต่อรูปภาพบัตรประชาชนเด็กผู้ก่อเหตุ ว่อนโซเชียล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วราวุธ” วอนหยุดส่งต่อรูปภาพบัตรประชาชนผู้ก่อเหตุ ย้ำบทเรียนนี้ สะท้อนความแข็งแรงสถาบันครอบครัว เลียนแบบจากต่างประเทศ

  • ทางพม.ได้จัดนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์
  • เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมสหวิชาชีพ
  • เพื่อสอบข้อเท็จจริงผู้ก่อเหตุที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
  • โดยได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

“อยากให้ผู้ปกครองลงในรายละเอียดเนื้อหาของสื่อออนไลน์ที่บุตรหลานของทุกคนกำลังเสพอยู่ในขณะนี้ เราต้องดูกันอย่างจริงจังแล้ว เพราะถ้าเราตามเด็กๆ ไม่ทัน เราต้องตามคอนเทนท์แบบที่เด็กๆ เสพจากสื่อออนไลน์ จะได้ช่วยกันเฝ้าระวังสังคม”

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวถึงเหตุยิงกันกลางห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ว่า ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งขอเป็นกำลังใจให้กับผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บทุกคน ขณะนี้ ทางพม.ได้จัดนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ อาญา  เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมสหวิชาชีพ เพื่อสอบข้อเท็จจริงผู้ก่อเหตุที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

นายวราวุธ กล่าวว่า ขอย้ำในสิ่งที่เป็นห่วงมากว่า ทำไมรูปภาพบัตรประชาชน รวมถึงรายละเอียดของผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเด็ก ถึงได้ปรากฏอยู่ในโลกโซเชียลเต็มไปหมด ทั้งที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิด  และตนขอวิงวอนทุกฝ่าย เพราะสิ่งนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่จะก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายหยุดกระจายเผยแพร่ข้อมูลของเด็กผู้ก่อเหตุไปมากกว่านี้ เพื่อช่วยกันลดผลกระทบจากความรุนแรง และไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในประเทศไทย คิดว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีความแข็งแรงของสถาบันครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบัน รวมถึงความใกล้ชิดของผู้ปกครองกับบุตรหลาน

ก่อนหน้านี้ ได้มอบนโยบายกระทรวง พม. แล้วว่า เราต้องพิจารณาเนื้อหาของสื่อที่สามารถเสพได้จากสื่อออนไลน์นั้น เป็นเนื้อหาเช่นไรบ้าง เพราะจะเป็นวัฒนธรรมเลียนแบบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จึงอยากให้ผู้ปกครองลงในรายละเอียดเนื้อหาของสื่อออนไลน์ที่บุตรหลานของทุกคนกำลังเสพอยู่ในขณะนี้ เราต้องดูกันอย่างจริงจังแล้ว เพราะถ้าเราตามเด็กๆ ไม่ทัน เราต้องตามคอนเทนท์แบบที่เด็กๆ เสพจากสื่อออนไลน์  จะได้ช่วยกันเฝ้าระวังสังคม

ช่องทางติดตาม The Journalist Club