“มิจฉาชีพ” รับมือยังไง บล็อกเบอร์ไปเลยดีไหม วันนี้เรามีคำตอบ

Scammer
รับมือมิจฉาชีพยังไง บล็อกเบอร์ไปเลยดีไหม วันนี้เรามีคำตอบ


เจอเบอร์แปลกโทรเข้าวันละ 1-2 สาย งงไปหมด? มิจฉาชีพสมัยนี้มีสารพัดกลเม็ดหลอกล่อให้ตกเป็นเหยื่อ ตั้งแต่เสียงปลอม ยันลิงก์ปลอม ถ้าไม่อยากเสียทั้งเงินและข้อมูลสำคัญ มาดูวิธีรับมือสายพวกนี้ พร้อมเทคนิคบล็อกเบอร์ และข้อควรรู้ที่จะทำให้คุณ “รู้ทัน” พวกมิจฉาชีพ

จากโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 จัดทำโดย สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน นั่นหมายความว่า “ใครๆ ก็อาจตกเป็นเหยื่อได้“

วันนี้เรานำวิธีการรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมวิธีบล็อกเบอร์มิจฉาชีพออนไลน์ มาฝากกัน

โดยผู้ให้บริการอย่าง AIS ออกมาแนะนำวิธีการรับมือเมื่อรับสายจากมิจฉาชีพ ระบุว่า

  • ตั้งสติก่อนรับสาย ถ้าเบอร์ไม่คุ้น หรือเป็นเบอร์ต่างประเทศ ยิ่งต้องตั้งใจฟัง
  • อย่าด่วนให้ข้อมูล เพราะมิจฉาชีพชอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน หรือรหัสต่าง ๆ
  • ตั้งคำถามกับปลายสายเพื่อจับพิรุธ เช่น ชื่อ รหัสพนักงาน สาขา หรือที่ตั้งของสำนักงาน
  • ห้ามกด ถ้ามีลิงก์หรือไฟล์แปลก ๆ ส่งมาในระหว่างสนทนา ห้ามกดเด็ดขาด
  • กดตัดสาย ถ้ารู้สึกไม่สบายใจให้กดวางสายทันที

แต่ในกรณีที่เรามั่นใจว่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจริง ควรทำยังไง

  • ตั้งสติ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อซ้ำสอง
  • รีบตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือมีความผิดปกติไหม
  • หากพบการเปลี่ยนแปลงให้รีบแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสถาบันทางการเงิน เพื่ออายัดหรือตรวจสอบธุรกรรมนั้น
  • รวบรวมหลักฐาน เช่น แชท อีเมล หรือบันทึกการสนทนา และรีบแจ้งความทันที

รวบรวมสายด่วนแจ้งเหตุเกี่ยวกับมิจฉาชีพทางโทรศัพท์

สายด่วนภัยออนไลน์
เบอร์สายด่วนแจ้งเหตุเกี่ยวกับมิจฉาชีพ จาก กสทช.

ถ้าไม่อยากรับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำตามนี้เลย

บล็อกเบอร์จากต่างประเทศ (สายที่มีเครื่องหมาย + นำหน้าเบอร์โทร)

  • กด *138*1# โทรออก เพื่อ ‘ตั้งค่า’ ไม่รับสายจากต่างประเทศ
  • กด *138*2# โทรออก เพื่อ ‘ยกเลิก’ การไม่รับสายจากต่างประเทศ

 แจ้งบล็อกเบอร์จากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ

  • AIS กด *1185# โทรออก
  • DTAC แจ้งผ่านสายด่วน โทร. 1678
  • TRUE แจ้งผ่านสายด่วน โทร. 9777 
  • NT แจ้งผ่านสายด่วน โทร. 1888

ถึงแม้จะกดบล็อกเบอร์ไปแล้ว แต่ก็ยังต้องระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละปี กลลวงที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้หลอกล่อเหยื่อนั้นมักจะพัฒนาอยู่ตลอด แต่หลัก ๆ มักจะใช้วิธีการพวกนี้

  1. อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ ธนาคาร บริษัทเอกชน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ หลอกให้โอนเงิน หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน หรือ รหัส OTP
  2. หลอกให้เปิดบัญชีเพื่อรับค่าจ้าง (บัญชีม้า) บัญชีกู้ยืมเงินออนไลน์ หรือให้เปิดบัญชีเล่นพนันออนไลน์ และท้ายที่สุดสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีนำไปทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือเบิกถอนเงิน ทำให้เจ้าของบัญชีตัวจริงเดือดร้อน
  3. ใช้ AI เลียนเสียงบุคคลที่รู้จัก หลอกให้เหยื่อโอนเงิน โดยโทรศัพท์มาด้วยเบอร์แปลก อ้างตัวเป็นคนรู้จัก โดยสร้างสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อ้างว่าญาติประสบอุบัติเหตุ ถูกเรียกค่าไถ่ หรือถูกตำรวจจับ ด้วยความตกใจเหยื่อจึงมักหลงเชื่อ และโอนเงินให้ในทันที
  4. ส่งลิงก์ข้อความหลอกลวง มาในรูปแบบ SMS หรืออีเมลปลอมขององค์กรที่น่าเชื่อถือ เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว และดูดเงินออกจากบัญชีของเหยื่อ
  5. แฮกเอาบัญชีไลน์ หรือโซเชียลมีเดียของบุคคลอื่น ทักหาเหยื่อโดยสวมรอยเป็นเพื่อน ญาติ ทักมาเพื่อยืมเงิน โดยอ้างว่าบัญชีมีปัญหา โอนเงินไม่ได้
  6. หลอกให้กลัวแล้วโอนเงิน โดยจะสร้างสถานการณ์น่ากลัว กดดัน หรือเร่งด่วน ให้เหยื่อตัดสินใจพลาด โอนเงินโดยไม่ตรวจสอบ เช่น อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งว่าเหยื่อมีหมายจับคดีผิดกฎหมาย อ้างว่าบัญชีของเหยื่อถูกแฮค ให้โอนเงินไปยังบัญชีปลอดภัยที่มิจฉาชีพเตรียมไว้ให้ ฯ
  7. แอปฯ ดูดเงิน โดยมักแฝงตัวมาในรูปแบบแอปพลิเคชั่นทั่วไป หลอกให้เหยื่อติดตั้งและใช้งาน แอปฯจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เช่น บัญชีธนาคาร รหัสผ่าน หรือข้อความ และทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เหยื่อสูญเงิน และข้อมูลส่วนตัว

ทั้งนี้ วิธีการต่าง ๆ ที่พวกมิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อ ยังพัฒนาอัปเดตวิธีการใหม่อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น ตัวเราเองก็ควรต้องพัฒนาการระวังตัวเรื่อย ๆ เช่นกัน ถ้าเรารู้เท่าทัน เข้าใจกลวิธีของโจร ก็จะสามารถเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐบาลเดินหน้าผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพบัญชีม้านิติบุคคลและนอมินี