![Rain ฝนตกหนักภาคใต้](https://thejournalistclub.com/wp-content/uploads/2024/11/Bangkok-9-696x315.jpg)
![](https://thejournalistclub.com/wp-content/uploads/2024/08/Cover-KP_2560x304px.webp)
ศปช. เตือนปชช.พร้อมรับมือฝนตกหนักภาคใต้ 2 – 5 พ.ย. นี้กำชับทุกหน่วยเฝ้าระวังหลังเตือน 10 จังหวัดเสี่ยงดินถล่ม ด้านเขื่อนเจ้าพระยาฝนจาง วันนี้ปรับลดการระบายน้ำเหลือ 1,300 ลบ.ม./วินาที
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มหรือ ศปช. เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 2 – 5 พ.ย. 67 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ที่ประชุม ศปช. ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม. ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงและพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากรเครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำและบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
เตือน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า ในช่วงวันที่ 2 – 5 พ.ย. 67 ขอแจ้งเตือนคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ในพื้นที่จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน และพะโต๊ะ)
จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ พนมบ้านนาสาร บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก และเกาะสมุย) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง) จังหวัดภูเก็ต(อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เหนือคลอง และคลองท่อม) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรังย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง และวังวิเศษ)
จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนังเฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสงสิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร)
จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง และควนขนุน)
จังหวัดสงขลา (อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ ระโนด นาทวี สิงหนคร หาดใหญ่ และรัตภูมิ)
นายจิรายุกล่าวต่อว่า ฝนช่วงดังกล่าวยังคงต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำและยังเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปีคลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
สถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ลดลง
สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุด (1 พ.ย. 67 เวลา 07.00 น.) สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,540 ลบ.ม./วินาที ที่สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,333 ลบ.ม/วินาที ศปช. จะทยอยปรับลดการระบายแบบขั้นบันได จากอัตรา 1,350 ลบ.ม./วินาที เหลือ 1,300 ลบ.ม./วินาที
นายจิรายุกล่าวว่า ความคืบหน้าการเร่งรัดจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัยตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ล่าสุด (31 ต.ค. 67) มีการยื่นคำร้องในระบบ 57 จังหวัด 298,852 ครัวเรือน ปภ. ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสิน 18 ครั้ง ในพื้นที่ 42 จังหวัด 210,206 ครัวเรือน ธนาคารออมสินโอนจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์แล้ว 16 ครั้ง โอนเงินสำเร็จ 188,413 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,695,653,000 บาท
ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศปช. ตั้งเป้าลดปล่อยน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเข้าสู่ภาวะปกติใน 10 วัน