สกัด สินค้า ถูก ไร้มาตรฐานบุกไทยทั้งทางออฟไลน์-ออนไลน์

มาตรฐานสินค้า
สกัดสินค้าถูก ไร้มาตรฐานบุกไทยทั้งทางออฟไลน์-ออนไลน์


หลังจากผู้ผลิต สินค้า ไทย โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก รายย่อย เจ๊งระนาวไปจำนวนหนึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะผลกระทบจากผู้บริโภค แห่สั่งซื้อสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศผ่านทางออนไลน์

ส่งผลให้รัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ปัญหา และสุดท้ายใช้มาตรการ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กับ สินค้า นำเข้าที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยเริ่มเก็บตั้งแต่บาทแรกไปแล้วนั้น

แก้ปัญหามาตรฐานสินค้า
ประชุมหารือและ เร่งหามาตรการแก้ปัญหามาตรฐานสินค้า

ล่าสุด มีช่องทางสั่งซื้อสินค้าราคาถูกช่องทางใหม่ ที่ให้บริการซื้อขายในไทยอีก ซึ่งก็คือ  เทมู” (Temu) แพลตอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ (แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ) จากจีน ที่เพิ่งเปิดตัวในไทยเมื่อเร็วๆ นี้

ผู้ประกอบการไทยหวั่นใจว่า ปัญหาที่แก้ไปได้เปราะหนึ่ง อาจประทุหนักขึ้นมาอีก และอาจทำให้ผู้ประกอบการของไทย ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสมากขึ้น และนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ถึงกับสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

รู้จัก Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน

สำหรับ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนที่กำลังมาแรง เป็นส่วนหนึ่งของ PDD Holdings Inc. เจ้าของ Pinduoduo แพลตฟอร์มช้อปปิ้งยอดนิยมในจีน คู่แข่งสำคัญของ Alibaba และ JD.com

สาเหตุที่มาแรง เพราะ Temu ใช้กลยุทธ์ ให้ผู้ซื้อซื้อตรงกับโรงงานผลิต เมื่อสินค้าออกจากโรงงานแล้วก็ส่งตรงถึงผู้บริโภค ตัดพ่อค้าคนกลางออก ไม่ต้องลงทุนคลังสินค้า

ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าปกติ 50–80% โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ต้องโชว์แบรนด์ ไม่ต้องเสียค่าการตลาด ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ทั้งเสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ของอุปโภคบริโภค

โดยมีสโลแกนว่า “Shop Like a Billionaire” สินค้าราคาถูกมาก จนใครๆ ก็ซื้อได้ดุจดั่งมหาเศรษฐี พร้อมจัดหนักแจกโปรโมชันกระหน่ำ

ปัจจุบัน Temu จำหน่ายสินค้าใน 47 ประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ยุโรป และล่าสุด ไทย โดยตลาดสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 42.1% มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านราย ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจาก Amazon และ eBay ได้มากจนต้องปรับกลยุทธ์สู้

ส่งผลให้ทางการของทั้งสหรัฐฯ และยุโรป เร่งหามาตรการสกัดสินค้าจีนไม่ให้หลั่งไหลเข้าไปยึดตลาด

เปิดผลดีเสีย Temu สยายปีกมาไทย

สำหรับไทย การมาของ Temu ก่อให้เกิดทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลดี คือ เป็นช่องทางให้เอสเอ็มอีไทยขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดที่ Temu มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว

อีกทั้งยังช่วยให้เอสเอ็มอีไทย ใช้ Temu ในการหาแหล่งวัตถุดิบ และสินค้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงเรียนรู้กลยุทธ์ทางธุรกิจจของ Temu และผู้ขายรายอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง

ส่วนผลเสีย คือ การที่ Temu เน้นขายสินค้ารคาถูก อาจทำให้ผู้ผลิตไทยในสินค้าประเภทเดียวกันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และอาจต้องลดราคาขายลงมาเพื่อให้แข่งขันได้ ส่งผลระทบต่อผลกำไร ไม่เช่นนั้น ก็อาจปิดกิจการ

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีไทยยังอาจเข้าถึงลูกค้าทางออนไลน์ได้ยากมากขึ้น เพราะ Temu เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า

สำหรับด้านคุณภาพของสินค้านั้น การที่ Temu เน้นขายสินค้าราคาถูก อาจทำให้สินค้าบางอย่าง มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทยได้

พาณิชย์แม่งานหาแนวทางแก้ไขเร่งด่วน

การมาของ Temu นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการไทยหวั่นเกรงแล้ว ยังทำให้รัฐบาล ต้องเร่งหามาตรการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงทำให้การเข้ามาของ Temu ถูกต้องตามกฎหมายไทย

กระทรวงพาณิชย์
“นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” ปลัดกระทรวงพาณิชย์

และล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เร่งด่วน

ซึ่งจะพิจารณาผลกระทบของผู้บริโภค และผู้ประกอบการในไทย โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้บริโภคว่า สินค้าที่นำเข้ามามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรับรองหรือไม่ เช่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ได้แบ่งสินค้านำเข้าที่วางขายในไทยเป็น 2 รูปแบบ คือ ออฟไลน์ และออนไลน์ โดยออฟไลน์นั้น ใน 1-2 วันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะลงพื้นที่ตรวจสอบว่า สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่วางขายในไทย ทำถูกต้อง ถูกกฎหมายไทยหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น มีการจดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนนิติบุคคลหรือไม่ สินค้าที่นำเข้ามีคุณภาพ  ได้มาตรฐานหรือไม่ เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหือไม่ เป็นต้น

เพราะจากการสุ่มตรวจสอบ พบว่า ร้านค้าในแหล่งที่มีคนต่างชาติอยู่มาก คนขายไม่ใช่คนไทย ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศ ไม่มีใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล

หากพบความไม่ถูกต้อง ก็จะใช้กฎหมายที่มีอยู่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการดำเนินการระยะเร่งด่วน ส่วนระยะกลาง และยาว ก็ต้องมาดูว่า ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใดบ้าง เพื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

รัฐเร่งดึง Temu เข้าสู่ระบบภาษี

ขณะที่ออนไลน์  กำลังหามาตรการเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้ดำเนินการ คาดว่า จะเห็นภาพชัดเจนในเร็ววันนี้  นอกเหนือจากเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออกไลน์ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มตั้งแต่บาทแรก ที่คลังได้จัดเก็บแล้ว

โดยขอความร่วมมือกรมศุลกากร ส่งสินค้า 10 อันดับแรกที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดผ่านการซื้อออนไลน์ เพื่อดูว่า สินค้านั้น เป็นไปตามาตรฐานหรือไม่

รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ที่ให้บริการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ในไทยนั้น กฎหมายไทย จะดำเนินการใดๆ ไดบ้าง

ในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แจ้งว่า ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลพ.ศ.2565 กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย แต่มีลูกค้าในไทย หรือมีความเสี่ยงต่อการเงิน การพาณิชย์ หรืออาจกระทบ หรืออาจเกิดความเสียหายต่อสาธารณะชน ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อยืนยันตัวตนธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าเป็นใคร ให้บริการเกี่ยวกับอะไร และมีที่ตั้งอยู่ที่ไหน รวมไปถึงมีมาตรการใดดูเเล เยียวยาผู้ใช้บริการ หรือช่องทางการร้องเรียน เป็นต้น 

มอก.
ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA บอกว่า ตั้งแต่เปิดระบบรับเเจ้งข้อมูล จนถึงวันที่ 8 ส.ค.67 มีแพลตฟอร์มแจ้งแล้ว 1,487 แพลตฟอร์ม

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง ก็เตรียมนำ Temu เข้าระบบภาษีของไทย เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์ด้วย

กระทรวงพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐจี้พัฒนาคุณภาพ-มาตรฐานสินค้าไทยดันส่งออกไปตะวันออกกลาง