เกม “สภาล่ม”ครั้งแรก กับ “วิวาทะ” ที่ไม่ยอมจำนนของแต่ละฝ่าย

หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาพอสมควร แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอกับการที่จะไม่ทำให้สภาครบองค์ประชุม คือมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดเหตุ “สภาล่ม” ครั้งแรก

  • เปิดที่มาที่ไปของเหตุ “สภาล่ม”ครั้งนี้
  • ข้ออ้างของแต่ละฝ่ายในเกม “สภาล่ม”

เหตุ”สภาล่ม” ครั้งแรกวานนี้(31ส.ค.2566) กับสส.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566  การประชุมสภาผู้แทนราษฎรรอบนี้ มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธาน ใน ระหว่างเข้าสู่วาระการพิจารณาญัตติของให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ที่มี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ แต่เนื่องจากญัตติดังกล่าวเป็นญัตติที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับราคาผลิตผลและสินค้าตกต่ำ ซึ่งมีญัตติในทำนองเดียวกันนี้อีก 10 ฉบับ จึงให้พิจารณารวมเป็น 11 ฉบับ

หลังจากที่ นายอรรถกร เสนอญัตติจบปรากฎว่า นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นเสนอต่อที่ประชุมให้มีการนับองค์ประชุมโดยมีผู้รับรองถูกต้อง

มีการถกเถียงกันไปมา จนนายวันมูหะมัดนอร์ ได้กดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุม เพื่อนับองค์ประชุมด้วย การกดบัตรแสดงตน ปรากฎว่า หลังจากรอสมาชิกแสดงตนอยู่พักใหญ่ มีผู้แสดงตน 98 คน จากจำนวนสส. 498 คน และเป็นสส.ซีกรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง จึงไม่ครบองค์ประชุมและประธานสั่งปิดประชุมทันที นับเป็น “สภาล่ม” ครั้งแรก

  • “ก้าวไกล”เปิดวาทะราคาพืชผลการเกษตรเป็นปัญหาสำคัญ
  • ต้องมาประชุม ไม่ใช่โดดประชุม
  • ที่นั่งของพรรครัฐบาลดูโหรงเหรง เงียบเหงา

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ถ้าเห็นว่าราคาพืชผลการเกษตรเป็นปัญหาสำคัญ ก็ต้องมาประชุม ไม่ใช่โดดประชุม แล้วโทษพรรคอื่นการให้ความสำคัญต่อญัตติราคาพืชผลการเกษตร ขึ้นอยู่กับ “จำนวน สส. ที่มาประชุม” ไม่ใช่มาประท้วงแอ๊คติ้ง พูดน้ำหูน้ำตาไหล แต่ สส. ของพรรคตัวเองโดดการประชุม

ถ้าแพนกล้องในห้องประชุม มาที่โซนที่นั่งของพรรคก้าวไกล จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พวกเรามาประชุมกันแน่น สส. ของพวกเราหลายคน ก็เตรียมที่จะร่วมอภิปรายในญัตตินี้ในขณะที่ ที่นั่งของพรรครัฐบาลดูโหรงเหรง เงียบเหงา จนต้องอุทานในใจว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกรจริงๆ หรือ หรือว่าทั้งหมดเป็นเพียงการแสดง หรือเป็นเทคนิคในการหาเสียงเท่านั้น

สส. ฝ่ายรัฐบาล หลายคนลุกขึ้นมาประท้วงพรรคก้าวไกล พยายามที่จะใส่ร้ายว่าพรรคก้าวไกลไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้อง ไม่สนใจปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งไม่เป็นความจริง

“จำนวน สส. ที่มาประชุมกันแน่นห้องประชุม” ของพรรคก้าวไกล ที่มากกว่า สส. จากฟากฝ่ายรัฐบาล เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลเราให้ความสำคัญกับปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างมาก

ตัวเลของค์ประชุม 98 คน ตัวเลขนี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัวเลขของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น และยืนยันได้ว่าต่อให้พรรคก้าวไกล เป็นองค์ประชุมให้ 98+149 = 247 องค์ประชุม ก็อาจจะไม่ครบอยู่ดี หรือถ้าครบ ก็น่าจะครบแบบปริ่มน้ำ องค์ประชุมจุ๋มจิ๋มแบบนี้ ฝ่ายรัฐบาลไม่เขินหรือครับเวลาแสดงท่าทีขึงขังดึงดราม่าในสภาว่า “ให้ความสำคัญกับปัญหาของเกษตรกร”

ที่อ้างว่า สส. ฝ่ายรัฐบาล ยังอยู่ในห้องประชุม ทำงานอยู่ในห้องพัก หรือนั่งกินข้าวอยู่ที่ห้องอาหาร ล้วนเป็นข้ออ้างทั้งสิ้น เพราะคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ก็ยังไม่ได้แต่งตั้ง จะไปประชุมอะไร พูดกันตรงๆ เถอะครับ ถ้าไปดูที่ลานจอดรถที่ชั้น B2 ก็จะรู้อยู่แก่ใจว่า สส. ฝ่ายรัฐบาล จำนวนไม่น้อย กลับบ้านกันไปหมดแล้ว

สรุปก็คือ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับราคาพืชผลการเกษตรจริงๆ พื้นฐานที่สุด ก็ต้องมาประชุม ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องไปตามเพื่อน สส. ของพรรคตัวเองให้มาประชุม ไม่ใช่มาดราม่า ประท้วงแอ็คติ้ง พูดน้ำหูน้ำตาไหล โทษฝ่ายค้าน แต่ปล่อยให้ สส. ของพรรคตัวเองโดดร่ม สบายใจเฉิบ

สำคัญไม่สำคัญ วัดกันที่ จำนวน สส. ที่เข้าประชุมครับ การแอ๊คติ้งต่างๆ คือ การแสดงเพื่อการโฆษณา หรือเป็นแค่เทคนิคในการหาเสียง เท่านั้น

  • “เพื่อไทย”อ้างเหตุสส.อยู่ระหว่างเตรียมงานแถลงนโยบาย
  • เหตุที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่า
  • หากมีจังหวะทุบได้ก็คงจะทุบกันเลย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุ “สภาล่ม” ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ว่า การเสนอนับองค์ประชุมนั้นถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะสามารถทำได้และเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายเสียงข้างน้อยในการตรวจสอบ แต่โดยหลักการแล้วในอดีตจะใช้การนับองค์ประชุมกันเฉพาะที่เป็นร่างกฎหมายที่ไม่เห็นชอบด้วยเท่านั้น หากเป็นเรื่องความเดือดร้อนและปัญหาของพี่น้องประชาชนจะไม่เคยทำกัน เพราะถือว่าปัญหาของประชาชนเป็นวาระที่สมาชิกควรจะมีโอกาสอภิปรายอย่างเต็มที่ เพื่อนำเสนอความเห็นส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจให้ดำเนินการการแก้ไขปัญหา ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นคือสมาชิกได้เสนอญัตติเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อนำเสียงสะท้อนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องของร่างกฎหมายที่จะต้องมีการลงมติอะไร

“ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเตรียมการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวนมากอยู่ในระหว่างการเตรียมการทางนโยบาย เพื่อให้พร้อมสำหรับการแถลงนโยบายรัฐสภาต่อรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มีทั้งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาหารือ ซึ่งเราก็หวังว่านโยบายต่างๆ จะต้องมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ทันที ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการทำงานของสภา อีกทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้ย้ำกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายครั้งในเรื่องการให้ความสำคัญกับสภา เชื่อว่าเมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมบูรณ์แล้วเราก็จะดำเนินการรักษาการประชุมสภาให้ราบรื่นได้” นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นสัญญาณเตือนว่าหลังจากนี้จะไม่มีกลไกหรือหลักการอะไรเหมือนในอดีต หากมีจังหวะทุบได้ก็คงจะทุบกันเลย อีกทั้งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นอารมณ์ที่ค้างมาจากเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ในญัตติเรื่องประชามติ ซึ่งในเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมองต่างกัน โดยพรรคเพื่อไทยได้มีการประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้มีมติ ครม. ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ต้องผ่านวุฒิสภาและดำเนินการได้ทันที แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังจะดำเนินการคือทำตามกลไกลของกฎหมายประชามติ ซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วก็ต้องส่งไปยังวุฒิสภาแต่เป็นไปได้สูงว่าวุฒิสภาก็จะตีตกหรืออาจถูกดึงเรื่องไว้ในท้ายที่สุด

“พรรคเพื่อไทย ยืนอยู่กับโลกความจริงว่าเราจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร หากทำในแนวทางที่เรารู้อยู่แล้วว่าเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย แล้วเราจะได้อะไร เรายืนยันว่าจะใช้กลไกที่มีอยู่ทำให้เป้าหมายเราเป็นจริงให้มากที่สุดคือ เพื่อที่จะทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” นายจุลพันธ์ กล่าว