นิด้าโพล ชี้ประชาชนแค่ 24.55% เชื่อตร.จับ “เสี่ยแป้ง”ได้

“นิด้าโพล” ชี้แค่ 24.55 % เชื่อมั่นว่าตร.จะจับ “แป้ง นาโหนด” ได้ 80.05% มองกระทบกระบวนการยุติธรรม โดยจำแนกเป็น 42.2% กระทบอย่างมาก และ 37.85% ค่อนข้างส่งผลกระทบ

  • มองกระทบกระบวนการยุติธรรม
  • ประชาชนกว่า 42.2% กระทบอย่างมาก

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “แป้ง นาโหนด กับกระบวนการยุติธรรมไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-7 ธันวาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการหนีคุกของ “แป้ง นาโหนด” กับกระบวนการยุติธรรมไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง แบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

เมื่อถามประชาชนถึงการติดตามข่าวการหนีคุกของนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 53.66 ระบุว่า ติดตามบ้างพอสมควร , รองลงมา ร้อยละ 36.87 ระบุว่า ไม่ติดตามเลย และร้อยละ 9.47 ระบุว่า ติดตามตลอด

เมื่อถามผู้ที่ระบุว่าติดตามข่าวตลอด และติดตามบ้างพอสมควร เกี่ยวกับข่าวการหนีคุกของนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” (จำนวน 827 หน่วยตัวอย่าง) ถึงผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย กรณีการหนีคุกรวมถึงการอัดคลิปร้องขอความเป็นธรรม ของ “แป้ง นาโหนด” พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.20 ระบุว่า ส่งผลกระทบอย่างมาก , รองลงมา ร้อยละ 37.85 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผลกระทบ , ร้อยละ 9.07 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลกระทบ , ร้อยละ 8.46 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบเลย และร้อยละ 2.42 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามผู้ที่ระบุว่าติดตามข่าวตลอด และติดตามบ้างพอสมควร เกี่ยวกับข่าวการหนีคุกของนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” (จำนวน 827 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสิ่งที่ประชาชนคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำกับกรณีของ “แป้ง นาโหนด” พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.94 ระบุว่า ควรตรวจสอบข้อร้องเรียนของ “แป้ง นาโหนด” พร้อมทั้งให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

รองลงมา ร้อยละ 31.56 ระบุว่า ควรเจรจา ให้ “แป้ง นาโหนด” เข้ามามอบตัว , ร้อยละ 27.09 ระบุว่า ต้องจับ “แป้ง นาโหนด” ให้ได้ , ร้อยละ 25.27 ระบุว่า ใช้โอกาสนี้ ประกาศปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นวาระแห่งชาติ , ร้อยละ 7.01 ระบุว่า ไม่ต้องทำอะไรเพราะ “แป้ง นาโหนด” จะเข้ามามอบตัวเอง , ร้อยละ 4.23 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องสนใจข้อร้องเรียนของ “แป้ง นาโหนด” , ร้อยละ 2.42 ระบุว่า ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง และร้อยละ 0.73 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้ที่ระบุว่าติดตามข่าวตลอด และติดตามบ้างพอสมควร เกี่ยวกับข่าวการหนีคุกของนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” (จำนวน 827 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสิ่งที่ประชาชนเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำกับกรณีของ “แป้ง นาโหนด” พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.32 ระบุว่า จะตรวจสอบข้อร้องเรียนของ “แป้ง นาโหนด” พร้อมทั้งให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

รองลงมา ร้อยละ 24.55 ระบุว่า จะสามารถจับ “แป้ง นาโหนด” ได้ , ร้อยละ 24.06 ระบุว่า จะประสบความสำเร็จในการเจรจาให้ “แป้ง นาโหนด” เข้ามามอบตัว , ร้อยละ 22.85 ระบุว่า จะใช้โอกาสนี้ ประกาศปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นวาระแห่งชาติ , ร้อยละ 9.67 ระบุว่า “แป้ง นาโหนด” จะเข้ามามอบตัวเอง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำอะไรเลย , ร้อยละ 9.55 ระบุว่า จะไม่ทำอะไร ปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง , ร้อยละ 5.20 ระบุว่า จะไม่สนใจ ข้อร้องเรียนของ “แป้ง นาโหนด” และร้อยละ 2.42 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ