กระตุ้นภาคเอกชน ร่วมหนุนไทยเป็นสมาชิก โออีซีดี

สศช. OECD
สศช. และภาคเอกชน ร่วมมือผลักดันไทยเป็นสมาชิก โออีซีดี คาดใช้เวลา 5 ปี


สภาพัฒน์ จับมือ ภาคเอกชน ช่วยผลักดัน ไทย ผ่านกระบวนการเป็นสมาชิก โออีซีดี คาดใช้เวลา5 ปี

สภาพัฒน์ สมาชิก OECD
วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอ เรื่อง การเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนานิคม (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ของประเทศไทย ให้กับคณะกรรมการหอการค้าไทย รับทราบและตระหนักรู้ถึงบทบาทของภาคเอกชนซึ่งจะเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และ ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รองเลขาธิการฯ ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับ OECD ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของ OECD ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ จากประเทศสมาชิกและมิใช่ประเทศสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะของ Policy Makers and Policy Shapers เพื่อให้ข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่าง ๆ ร่วมกับ OECD  

เสนอเอกชนไทยเข้าร่วม BIAC

โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีกลุ่มเฉพาะซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเครือข่ายภาคธุรกิจของประเทศสมาชิก OECD (Business at the OECD: BIAC) มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะหรือมุมมองทางธุรกิจ เพื่อให้ OECD นำไปใช้ในการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับธุรกิจทุกขนาดตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยภาคเอกชนไทยสามารถเข้าร่วม BIAC ในฐานะ Observers ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรภาคเอกชนจากหลายประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วม เช่น Federation of Indian Chambers of Commerce and Industry และ Singapore Business Federation เป็นต้น

นอกจากนี้ BIAC ยังมีกลุ่มย่อยภายในหรือ Policy Groups ที่ภาคเอกชนไทยสามารถเลือกดำเนินความร่วมมือเฉพาะเรื่องได้ เช่น ตลาดเกิดใหม่ ทักษะและการจ้างงาน และการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

OECD ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของตราสารทาง กฎหมาย (OECD legal instruments) ข้อแนะนำ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในด้านต่าง ๆ เช่น การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การจัดการด้านภาษีที่เป็นธรรม และกรอบนโยบายด้านการลงทุน เป็นต้น

ซึ่งหากไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ด้วยเช่นกัน โดยประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับคือการมีมาตรฐานทางธุรกิจเทียบเท่าระดับสากล ส่งผลให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือสูง และยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลกอีกด้วย

คาดใช้เวลา 5 ปี ในการเป็นสมาชิก

สภาพัฒน์ ภาคเอกชน สมาชิก OECD
สถานะการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรอคณะมนตรี OECD (OECD Council) พิจารณา

สำหรับสถานะการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรอคณะมนตรี OECD (OECD Council) พิจารณาว่าจะรับไทยเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD (accession process) หรือไม่ ซึ่งหากมีมติรับไทยเข้าสู่กระบวนการแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนที่ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD

โดย สศช. คาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 5 ปี ซึ่งน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่เข้าเป็นสมาชิก OECD ไปแล้ว เช่น โคลอมเบีย และคอสตาริกา ที่ใช้เวลาประมาณ 9 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาไทยและ OECD มีความร่วมมือที่เข้มแข็งมายาวนาน และได้ปรับมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ OECD แล้วระดับหนึ่ง ผ่านการดำเนินโครงการ OECD-Thailand Country Programme ระยะที่ 1 (ปี 2561 – 2564) และระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2569)

รองเลขาธิการฯ ระบุว่า ตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและแรงผลักดันจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยมีประเด็นขอความร่วมมือจากภาคเอกชน 3 ประเด็น ได้แก่ 

ศึกษาและปฏิบัติตามมาตรฐาน OECD ที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน เช่น การกำกับดูแลกิจการที่ดี 

ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นสมาชิก OECD เช่น เป็นผู้แทนในคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา และ สร้างบทบาทของภาคเอกชนไทยในเวทีระหว่างประเทศผ่าน BIAC

เนื่องจาก BIAC มีบทบาทสำคัญร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น ASEAN-BAC และ B20-G20 ทั้งนี้ ภาคเอกชนสามารถติดต่อมายัง สศช. เพื่อประสานไปยังเจ้าหน้าที่ OECD เพื่อเริ่มดำเนินความร่วมมือกับ BIAC ได้ทันที

ในโอกาสนี้ ได้มีผู้แทนคณะกรรมการหอการค้าไทย ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย โดยแนะนำให้ภาครัฐเร่งสื่อสารกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก และประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้รับ ตลอดจนต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายนี้ รองเลขาธิการฯ เน้นย้ำว่า ทุกภาคส่วนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย และอยากให้ภาคเอกชนตระหนักว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD มิได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับการดำเนินธุรกิจ แต่ OECD คือมาตรฐานที่จะช่วยยกระดับธุรกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน

สภาพัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : OECD มีมติเอกฉันท์รับไทยสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ