ธปท. คาดไตรมาส 2 ส่งออก-เบิกจ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว ช่วยหนุนเศรษฐกิจ

ธปท. คาดไตรมาส 2
ธปท. คาดไตรมาส 2 ส่งออก-เบิกจ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว ช่วยหนุนเศรษฐกิจ

ธปท. คาดไตรมาส 2 ส่งออก เบิกจ่ายภาครัฐ และภาคท่องเที่ยว ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต เชื่อมั่น “เงินเฟ้อ” พื้นฐานปีนี้อยู่ในกรอบ 0.6 % พร้อมมองส่งออกปีนี้โตได้ประมาณ 2%

  • เชื่อมั่น “เงินเฟ้อ” อยู่ในกรอบ 0.6 %
  • ส่งออกปีนี้โตประมาณ 2%

วันที่ 1 มิ.ย.2567 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจและการเงิน ประจำเดือนเมษายน 2567 เศรษฐกิจไทยในภาพรวมปรับดีขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ตามภาคบริการที่ขยายตัว

สอดคล้องกับรายรับภาคการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง

โดยเห็นอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น หลังจากลดลงในเดือนก่อน โดยแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว ยังคงเห็นอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงส่งสำคัญ รวมถึงการบริโภคของภาคเอกชน ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

โดยระยะข้างหน้ามีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ อาทิ การเบิกจ่ายของรัฐบาลที่จะกลับมาใช้ได้แล้ว รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่อาจมีมากขึ้นในอนาคต อีกตัวที่สำคัญคือ การฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต ที่โลกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่ผลดีกับการส่งออกของไทยจะมากน้อยเท่าเท่าใด ก็ยังเป็นคำถามอยู่

นายสักกะภพ กล่าวต่อ ว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก หลังชะลอลงในช่วงก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว ด้านหมวดสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

สำหรับหมวดสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่ง จากการส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองในงานจัดแสดงรถยนต์ (มอเตอร์โชว์) แต่ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในประเด็นเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ

ด้านการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ

โดยการส่งออกที่กลับมาเป็นบวกไม่ได้สร้างความแปลกใจมากนัก เพราะความจริงภาพใหญ่ไม่ได้มองว่าดีมากนัก เป็นผลจากฐานต่ำ และโครงสร้างบางอุตสาหกรรมที่มีถูกฉุดรั้งการเติบโตด้วย โดยทั้งปี 2567 มองการส่งออกโตประมาณ 2% เท่านั้น ถือว่าไม่ได้สูงออกไปทางระดับกลางถึงต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดรวมด้วย

“เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกที่ 0.19% จากหมวดอาหารสดตามราคาผักและเนื้อสุกร รวมถึงจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน

โดยกรอบเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ มีชัดเจนทุกปีอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่มีการติดตามต่อเนื่อง มีกระบวนการจัดทำร่วมกับกระทรวงการคลัง เป็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจน โดยการปรับตัวต่ำลงของเงินเฟ้อ ต้องบอกว่าแบงก์ชาติพยายามบอกอยู่แล้วว่า เงินเฟ้อคงเห็นติดลบในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งจากการแถลงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเดือนเมษายน ก็กลับมาเป็นบวกแล้ว จึงคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบล่างของกรอบเงินเฟ้อ จากทั้งปี 2567 ที่มองไว้ระดับ 0.6%”

ทั้งนี้ การปรับตัวของเงินเฟ้อ จะบอกว่าแบงก์ชาติไม่กังวลก็คงไม่ถูก แต่เราจับตามองใกล้ชิด ซึ่งก็เห็นว่ายังอยู่ในกรอบที่วางไว้อยู่ ส่วนการเติบโตของจีดีพีไทย ไตรมาส 1/2567 ที่ออกมาโต 1.5% จากแบงก์ชาติคาดไว้ว่าจะโตเพียง 1% ซึ่งถือว่าโตได้สูงกว่าคาดไว้ จุดตั้งต้นของปีจึงดีกว่าคาด

จากที่ลุ้นว่าตัวเลขไตรมาส 1 จะออกมาอย่างไร ซึ่งต้องรลุ้นพัฒนาการของไตรมาส 2/2567 ต่อ หลังจากตัวเลขหลายตัวเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว เราอยากเห็นว่าตัวเลขการกลับมาเป็นบวกจะยั่งยืนได้มากน้อยเท่าใด

นอกจากนี้ มาตรการการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือ LTV (Loan-to-Value ratio) เพื่อช่วยในด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น จากที่หารือกันมาเยอะแล้วนั้น ต้องบอกว่าแอลทีวี ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะการซื้อบ้านหลังแรก ยอมให้กู้ซื้อด้วยมาตรการที่มีความผ่อนคลายมากแล้ว

ถือเป็นมาตรการส่งเสริมด้วยซ้ำ หากราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท กู้ได้อยู่ที่ 90% ไม่เกิน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำมากเทียบกับประเทศอื่น ทำให้ภายใต้ภาวะปัจจุบัน เงื่อนไขมาตรการแอลทีวียังคงเหมาะสมอยู่

ด้าน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเดือนเม.ย. ขยายตัวต่อเนื่องในภาคการท่องเที่ยว มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการบริโภคสินค้าคงทนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ ผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวจากเดือนก่อน

ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าคงทน และปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า: โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.8 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนเมษายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -14.4

แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 7.4 ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.7 รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.3

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 62.1 จากระดับ 63.0 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า

ส่วน เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 17.4

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนเมษายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -9.4

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ 23,278.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.8

และหากพิจารณาเฉพาะ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 เนื่องจาก การขยายตัวของสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ร้อยละ 62.0 อุปกรณ์และส่วนประกอบร้อยละ 58.8 หมวดเครื่องจักรกล และส่วนประกอบหมวดหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบร้อยละ32.4 และหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ร้อยละ 23.3 ตามลำดับ

ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนเมษายน 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -9.9 แต่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.5 จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ยังคงขยายตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.3 จากระดับ 92.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบ จากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ ย้ำประชุม ครม.เศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ ธปท. ตอบรับด้วยดี
: เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย