“ภูมิธรรม” เล็งฟื้นแผนแก้ น้ำท่วม – น้ำแล้ง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ใน ครม.ชุดใหม่ คาดใช้งบประมาณ 3-5 แสนล้านบาท
- ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ใน ครม.ชุดใหม่
- คาดใช้งบประมาณ 3-5 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชชัย รักษาการนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปแจกสิ่งของและเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองแพร่
เผยเตรียมรื้อฟื้นแผนบริหารจัดการ น้ำท่วม น้ำแล้ง (การบริหารจัดการลุ่มน้ำ) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมาใหม่ คาดใช้งบประมาณ 3-5 แสนล้านบาท
นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า จริงๆรัฐบาลเดิมของเราได้วางแผนเรื่องนี้แล้ว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะที่ผ่านมาไม่ได้มีโครงการแบบนี้เหมือนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เคยได้วางแผนไว้ ตอนนี้เราก็จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและได้เตรียมการที่จะวางแผนไว้ 3 ปีที่จะให้เราดูแลแต่จะสามารถทำได้จริง
จะต้องใช้งบประมาณและเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งนายกฯคนใหม่มาเราก็จะติดตาม เพราะไม่งั้นท่วมๆแล้งๆเราก็จะเสียหายตลอด แต่ตนว่าถ้าทำทั้งประเทศก็จบระยะยาว
“เราได้สั่งการไปแล้วในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าผนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำเราต้องดูให้หมดอันไหนที่เสียเราก็ซ่อม สรุปให้ได้ว่าน้ำมันมาทางไหน ทุกคนพร้อมจะช่วยแก้ไขปัญหาและ เรื่องของน้ำนี่เราจะต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ
เราจะเอานโนบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มารื้อฟิ้นใหม่ แต่ต้องใช้เงินมากตอนนั้นต้องใช้ 2-3 แสนล้านบาท เดี๋ยวนี้คง 5-6 แสนล้านบาท แต่ว่าเราต้องมาคุยกัน ตอนนี้ไม่มี ครม. เมื่อมีแล้วก็จะได้เคลียร์เรื่องนี้ให้ชัดเจน”นายภูมิธรรม กล่าว
และว่า น้ำคราวนี้เป็นน้ำหลาก ซึ่งจะไหลเร็ว หลังจากนี้เราก็ต้องมาดูกัน น้ำท่วมน้ำแล้งมันมีอยู่เสมอ แต่ภาพใหญ่เลย เราต้องมาดูแลเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งให้เป็นวาระแห่งชาติ เราจึงเอาแผนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มารื้อฟื้น
แต่เรื่องนี้ก็คุยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าเราจะรื้อฟื้นเรื่องนี้ ขณะนี้เราก็จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ถ้าเราขืนทำอย่างนี้อยู่เราก็ต้องเอาเงินมหาศาลมาใช้แบบนี้ คิดว่าเราจะใช้เงิน 5-6 แสนล้านบาท แต่เราก็ใช้เงินเยียวยามากมายมหาศาลเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นนายนายภูมิธรรม นายอนุทิน และร.อ.ธรรมนัส ได้แจกสิ่งของให้กับประชาชนที่มารอมอบสิ่งของที่บริเวณ ท่าน้ำศรีชุม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
- กรมทางกลางเร่งแก้น้ำท่วม-ดินสไลด์
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย (น้ำท่วมฉับพลัน) น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้นั้น กระทรวงคมนาคมได้มอบหมาย และสั่งการให้กรมทางหลวงระดมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรลงพื้นที่
เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ อย่างเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงได้ระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกล ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 (พิจิตร) ได้ดำเนินการติดตั้งสะพานเบลีย์บนทางหลวงหมายเลข 1155 ทรายกาด – บ้านลุง ช่วง กม.ที่ 16+000 – 16+100 ในพื้นที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประชาชนสามารถจราจรผ่านได้
สำหรับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมและดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง ประจำวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 พบทางหลวงที่ไม่สามารถผ่านได้ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จำนวน 4 แห่ง ดังนี้
1.ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 49+100 – 49+150 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุดินสไลด์ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกำลังเคลียร์พื้นที่
2.ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 56+040 – 56+230 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุดินสไลด์ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกำลังเคลียร์พื้นที่
3.ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 81+084 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุสะพานขาด ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งสะพานเบลีย์
4.ทางหลวงหมายเลข 1155 ทรายกาด – บ้านลุง ช่วง กม.ที่ 27+400 – 27-500 ในพื้นที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุดินสไลด์ทำให้คันทางทรุดตัว
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินสไลด์บนโครงข่ายทางหลวงแล้ว เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงได้ร่วมกันจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อมอบให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัย รวมทั้งบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเดินทางด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามป้ายเตือนน้ำท่วม ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลา
- กรมชลฯ เช็กความพร้อม ปตร.ทุกบาน
นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายโสภัญญ์ ศรีสว่างวรกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย และผู้เกี่ยวข้อง
ร่วมคณะนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และการจัดจราจรน้ำที่กรมชลประทานได้วางแผนรับมือไว้ก่อนหน้านี้ ณ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก
ปัจจุบันปริมาณน้ำจากจังหวัดแพร่ กำลังทยอยไหลลงมาสู่จังหวัดสุโขทัย โดยเมื่อเวลา 20.00 น. (24 ส.ค.) ที่สถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นด่านแรก มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,135 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
กรมชลประทานได้จัดจราจรน้ำ โดยทำการหน่วงน้ำไว้ที่เหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก และใช้คลองหกบาท คลองยมน่าน และแม่น้ำน่าน ช่วยตัดยอดน้ำหลากก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย
พร้อมควบคุมการระบายผ่าน ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ให้ไม่เกิน 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ควบคู่ไปกับการผันน้ำเข้าคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำยมสายหลักในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “ภูมิธรรม – อนุทิน” ติดตามสถานการณ์น้ำ – การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เชียงราย