“พาณิชย์” ย้ำ! ทุเรียนไทย มีคุณภาพ จีนยังนำเข้าพุ่งหลังจีนพบสารแคดเมียมจากคู่แข่ง

ทุเรียนไทย
ทุเรียนไทย

“พาณิชย์” ชี้ขอให้มั่นใจคุณภาพ ทุเรียนไทย จีนยังนำเข้าพุ่ง หลังจีนตรวจเจอสาร “แคดเมียม” จากคู่แข่ง ด้านไทยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแล้ว

  • หลังจีนตรวจเจอสาร “แคดเมียม” จากคู่แข่ง
  • ไทยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแล้ว

วันที่ 16 มิถุนายน 2567 นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลกระทบจากกรณีที่จีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศคู่แข่งหลังตรวจพบสาร “แคดเมียม” ว่า จะไม่มีผลกับการส่งออก ทุเรียนไทย เนื่องจากนโยบายการบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้า ประจำปี 2567 ตั้งแต่สวนผลไม้จนถึงการส่งออก

และการลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาด่านขนส่งสินค้าทั้งที่ สปป. ลาว เวียดนาม และจีนอย่างใกล้ชิดของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จนยึดเบอร์หนึ่งส่งออกตลาดจีนได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถึงกรณีจีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม เพราะตรวจพบสารตกค้างโลหะหนัก “แคดเมียม” ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ได้กำชับให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐานของ ทุเรียนไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับ ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีแผนการบริหารจัดการเรื่องทุเรียน ตั้งแต่ต้นฤดูก่อนการเก็บเกี่ยว โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมคุณภาพ ป้องกันสารตกค้าง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวทุเรียนอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน

ทำให้มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยมีคุณภาพและผ่านข้อบังคับ กฎระเบียบต่าง ๆ ของจีน ตลอดจนการจัดการซื้อขายผลไม้ล่วงหน้าโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันราคาผลไม้ตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกจำนวนมาก

นอกจากนี้นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้ลงพื้นที่ติดตาม ณ จังหวัดจันทบุรี และการเดินทางเยือนด่านโม่หาน ประเทศจีนและด่านบ่อเต็น สปป. ลาว ในขณะที่มอบหมายให้นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนด่านหูหงิ ประเทศเวียดนามและด่านโหยวอี้กวน ประเทศจีน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ซึ่งทั้ง 4 ด่าน เป็นด่านสำคัญในการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีน โดยเส้นทางรถบรรทุก และได้ประสานกับหน่วยงานศุลกากรตลอดจนบริษัทขนส่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกผลไม้ของไทย ทำให้การส่งออกไม่ติดขัด และส่งผลดีต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนจนถึงขณะนี้

จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยรักษามาตรฐานเอาอย่างไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งไปจีนได้ต่อไป

นายวิทยากร มณีเนตร เปิดเผยผลการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทย ในตลาดหลักอย่างประเทศจีน ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย

รวมถึงทุเรียนไทยผ่านช่องทางการค้าปลีกออนไลน์ผู่ผู่ (PUPU) ระหว่างวันที่ 11-17 พ.ค.2567 มณฑลฝูเจี้ยน สร้างมูลค่าการค้ารวม 32 ล้านหยวน หรือประมาณ 160 ล้านบาท โดยทุเรียนสด มังคุด น้ำมะพร้าวขวด และทุเรียนแช่แข็ง เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจผลไม้ไทยภายในงาน THAIFEX Anuga-Asia 2024 สร้างมูลค่าการค้าคาดการณ์รวมกว่า 300 ล้านบาท โดยทุเรียน มะม่วง มังคุด ลำไยอบแห้ง และสับปะรดกระป๋อง เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด

และการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยผ่านไอศกรีมผลไม้ไทยในงาน THAIFEX รวมไปถึงแผนส่งเสริมการขายผลไม้ไทยภายใต้ธีม Thai Fruits Golden Months ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งปีนี้มีแผนดำเนินการในเมืองหลัก และเมืองรองในจีนจำนวนรวม 8 เมือง ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกทุเรียนสดของประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 67) พบว่าไทยสามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ถึง 225,204 ตัน (ข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากร) โดยมีนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ทุเรียนไทย 2567 โดยทุเรียนอยู่ในช่วงเมษายน-สิงหาคม ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากราว 86% ของผลผลิตทุเรียนทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้รวมกว่า 95% ของผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศ

วิเคราะห์ทุเรียนภาคตะวันออก อาจมีผลผลิตทุเรียนในฤดูลดลง 14%

เริ่มจากทุเรียนในฤดูภาคตะวันออกที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน ได้เผชิญความร้อนแล้งจากเอลนีโญรุนแรงในช่วงราว 4 เดือนแรกของปี ทำให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำฝนในปริมาณที่น้อยลงกว่าปีก่อนโดยเฉพาะในเดือนเมษายน ที่น้ำฝนน้อยลงอย่างมาก ส่งผลต่อการติดดอกออกผลที่ลดลง/ผลมีน้ำหนักเบา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีปริมาณฝนมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่อาจช่วยบรรเทาความเสียหายในระยะเก็บเกี่ยวได้ แต่โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 คาดผลผลิตจะลดลง 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.65 ล้านตัน วิเคราะห์ทุเรียนภาคใต้ อาจมีผลผลิตทุเรียนในฤดูลดลง 25%

มองต่อไปในทุเรียนภาคใต้ ที่จะออกสู่ตลาดตามมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะเสียหายมากขึ้นอีกจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากต้องเผชิญปริมาณฝนที่ลดลงจากปีก่อนตลอดช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียนตั้งแต่ระยะติดดอกออกผล และยังถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยวอีกด้วย

ทำให้โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคใต้ปี 2567 อาจมีผลผลิตลดลงแรงถึง 25% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.31 ล้านตัน

ผลผลิตทุเรียนรวมในฤดูปี 2567 (2 ภาค คือ ภาคตะวันออก และภาคใต้) อาจลดลง 18% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 0.96 ล้านตัน นับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี

ภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.3% จากผลผลิตรวมที่ลดลง 18% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาเฉลี่ยปรับสูงขึ้น 22% แบ่งเป็นรายได้เกษตรกรภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 4% และรายได้เกษตรกรภาคใต้ลดลง 8%

ทั้งนี้ เป็นรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกลอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “สุรพงษ์“ เร่งบริการทางคู่สายใต้ หวังขนส่งทุเรียน-ยาง ไปจีนเร็วขึ้น

: ภัยแล้ง-ร้อนจัด! ทำผลผลิตทุเรียนไทยปี 67 ลดลง 18% มากสุดในรอบ 15 ปี