ภาคอสังหาฯ หนุนคลัง ล้างประวัติหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร ฟื้นกองทุน LTF

ติดเครดิตบูโร
ล้างประวัติหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร

ภาคอสังหาริมทรัพย์ หนุนคลัง ล้างประวัติหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร ฟื้นกองทุนรวมระยะยาว หรือ LTF และเพิ่มเวลาวีซ่าฟรีให้กับ 93 ประเทศยาวถึง 60 วัน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

  • หนุนเพิ่มเวลาวีซ่าฟรีให้กับ 93 ประเทศ
  • ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

วันที่ 2 มิถุนายน 2567 นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สถานการณ์ยังไม่ดีจริงๆ รัฐบาลก็พยายามบูสต์แต่ก็ช้า

รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลคาดหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง ยังไม่ส่งผลมากนัก เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่ยังไม่ฟื้นตัว

ขณะที่ธนาคารพาณิย์ ยังเข้มงวดการปล่อยกู้ ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังรวมถึงธุรกิจทั่วไปด้วย เนื่องจากกลัวเกิดหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือถึงปลายปีนี้ จึงพึ่งการลงทุนจากงบประมาณภาครัฐ และการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้เติบโต

“ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ขยายเวลาวีซ่าฟรีให้กับ 93 ประเทศ ให้สามารถพำนักในประเทศไทยได้ยาวถึง 60 วัน เพราะเป็นมาตรการที่ได้ได้เร็ว สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ เมื่อหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆผ่อนคลาย จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น” นายอิสระ กล่าว

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวคิดของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะแก้เกณฑ์ลดระยะเวลาการเก็บประวัติการชำระหนี้ ติดเครติดบูโร กำหนดไว้ 3 ปี เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีการผ่อนชำระและเป็นหนี้ดีแล้ว สามารถไปยื่นขอกู้สินเชื่อก้อนใหม่ เพื่อมาดำเนินการธุรกิจต่อได้ หรือไปขอกู้ซื้อทรัพย์สินอื่นๆ ได้ เช่น ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

นายอิสระ กล่าวว่า มองว่า ควรลดเวลาจาก 3 ปี เหลือ 1 ปี และอาจจะทดลองเป็นการชั่วคราวดู ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในทันที เนื่องจากเป็นการหลักเกณฑ์เพิ่มเติม แต่ถ้าหากออกมาแล้วไม่ส่งผลดี เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ก็สามารถกลับไปใช้เกณฑ์เดิมได้ ถ้ารัฐผลักดันมาตรการนี้ออกมาได้ จะส่งผลดีต่อทุกประเภทธุรกิจทั้งเอสเอ็มอี อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์

และยังเห็นด้วย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะฟื้นนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF สำหรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี กลับมาใช้อีกครั้ง เพราะจะจูงใจให้คนนำเงินออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ และเข้ามาตลาดทุนมากขึ้น

ด้าน นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับกรณีที่นายพิชัย มีแนวคิดจะลดระยะเวลาการเก็บประวัติเครดิตบูโรลง เนื่องจากจะช่วยคนที่มีภาระการเงินล้มละลายติดเครดิตอยู่ และเคยเป็นหนี้เสียมาก่อน

แต่เมื่อสามารถชำระหนี้ไปได้จนกลายเป็นหนี้ดี จะทำให้สามารถไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้และเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย ซึ่งมาตรการนี้หากออกมาได้ จะส่งผลดีต่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ยังรวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีและรถยนต์ด้วย

  • เครดิตบูโร ไม่ขวางแก้ Blacklist 8 ปี

สำหรับเรื่องนี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เตือนรัฐบาลที่มีแนวคิดจะแก้กฎหมายลดระยะเวลา ติดเครดิตบูโร หรือโดน Blacklist หนี้เสีย 8 ปีโดยระบุว่า ขอนำเสนอเป็นข้อมูลด้วยความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง เพราะเครดิตบูโรอยู่ตรงกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้กำกับดูแล และผู้กำหนดนโยบาย

และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบภัยจากโควิดจนกลายเป็นหนี้เสีย ชำระหนี้ไม่ได้ เป็นนโยบายมาทุกรัฐบาล และทุกรัฐบาลต้องการให้ลูกหนี้ที่มีบัญชีหนี้เสียนี้กลับเข้าสู่ระบบ กู้เงินได้อีกครั้ง แต่จะใช้วิธีการอย่างใดจึงจะสมดุล ทั้งความเป็นธรรมของผู้เป็นหนี้เสีย ที่ทุกข์ทรมาน จากผลกระทบของโควิดจนไปต่อได้ยาก

หลักกฎหมาย เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา ความเสี่ยงและความมั่นคงของระบบการเงินว่าหนี้เสียจะเพิ่ม จะลด คนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มหรือลดลง ความเสี่ยงของผู้ฝากเงินที่จะถูกนำไปปล่อยกู้ต่อว่าเขาเหล่านั้นคิดอย่างไร

ความรู้สึกของลูกหนี้ดีที่ชำระปกติมาโดยตลอดเขาจะคิดอย่างไร เป้าหมายทางนโยบายที่ต้องการผลสำเร็จที่ตอบโจทย์กับปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

คำถาม คือ การแก้ไขลดระยะเวลาจาก 8 ปีทำได้หรือไม่ คำตอบ คือ ทำได้ โดยการออกประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค) หรือประกาศ กคค. โดยต้องชั่งน้ำหนักว่าความเสี่ยงและการแลกเปลี่ยน หรือเป้าหมายที่จะให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้เสียที่ไม่จ่าย ไม่ทำ TDR นั้น สามารถยื่นขอกู้ได้โดยว่า

ที่เจ้าหนี้ใหม่ไม่เห็นข้อมูลเมื่อใด ความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ผากเงินรับได้ตรงไหน มาตรฐานสากลเป็นอย่างไร หากมีข้อมูลครบ ตัดสินใจได้ เครดิตบูโรไม่มีอำนาจตัดสินใจ เรามีหน้าที่ดำเนินการตามประกาศคำสั่งอย่างเดียว

ขอย้ำอีกครั้ง คือ ไม่ต้องแก้กฎหมาย แค่ออกประกาศใหม่ทับประกาศเก่า จะทำหรือไม่อยู่ที่ กคค. ซึ่งมีผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน มีผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.เป็นเลขานุการ ในส่วนของคณะกรรมการบริษัทเครดิตบูโรไม่มีอำนาจใดๆ เลยในเรื่องนี้ เราให้ข้อมูล และรับคำสั่งมาปฎิบัติอย่างเดียว

นายสุรพล ระบุว่า ประเด็นดังกล่าว มาจากข่าวแนวคิดแนวทางในการที่จะช่วยผู้คนซึ่งไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แต่ต่อมาไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนเลยเวลา 90 วันหรือค้างเกินกว่า 3 งวด หรือเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป สถานะของลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อดังกล่าวนั้น คือ หนี้เสีย หรือ NPLs ลูกหนี้ที่มีบัญชีอย่างนี้ในประวัติของตน ก็จะไปขอกู้เงินใหม่อีกครั้งก็จะยากมาก เพราะหนี้เก่าที่ค้างชำระจนเสียนั้น ยังไม่จ่ายจะมาได้เงินกู้ใหม่ได้อย่างไร

สถาบันการเงินที่จะมาเป็นเจ้าหนี้ใหม่ ก็มีกติกาปกป้องจากผู้กำกับดูแลว่า ถ้าตัวคนมายื่นขอกู้เพิ่มใหม่นั้น ยังมีบัญชีที่ค้างชำระจนเกิน 3เดือนมาแล้วคาตาในเวลาที่ยื่นขอกู้ และก็ยังไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว การจะอนุมัติเอาเงินฝากของผู้ฝากเงินไปให้กับคนที่มีปัญหา ยังไม่ได้แก้ไขคงจะทำไม่ได้แน่นอน

ส่วน ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่าในช่วงปี 63-65 มันมีเหตุการณ์โรคระบาด ส่งผลทำให้เกิด incomes shock มีการสั่งห้ามการพบหน้ากันlock down กัน เหตุปัจจัยนี้จะไปบอกว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ที่ค้าขาย ทำงาน ทำอาชีพอิสระ ตั้งใจจะเบี้ยวหนี้จนเป็นหนี้เสียเลยทั้งหมดก็คงไม่ได้

ดังนั้น ในระบบการเงินไทย เราจึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่มีบัญชีหนี้เสียเพราะโควิดที่เรียกว่า บัญชีหนี้เสียรหัส 21 หรือบัญชี NPLs code 21 ตรงนี้ทุกรัฐบาลก็พยายามหาหนทางในการแก้ไข

วิธีการในการแก้ไขหลักๆ คือการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือการทำ TDR เพื่อให้บัญชีหนี้เสียกลายมาเป็นบัญชีหนี้ปรับโครงสร้างฯ และกลายเป็นบัญชีหนี้ปกติในที่สุด นวทางต่างๆทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการกำหนดไว้ รวมความพยายามสื่อสารให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ มาตกลงกันในจุดที่พอจะไปกันได้ จูงมือกันเดินต่อไป ผลก็เป็นอย่างที่มีการแถลงตัวเลขกัน

กลับมาที่ประเด็นของ เรื่องที่อยากจะแก้ไขกติกาการกำหนดในปัจจุบันว่า ถ้าบัญชีใดเป็นหนี้เสียเป็น NPLs แล้ว หากลูกหนี้รายนั้น ที่เป็นเจ้าของบัญชีไม่ยอมจ่ายไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ไม่ยอมทำ TDR ถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี เราจะยอมให้มีข้อมูลที่แสดงสถานะการเป็นหนี้เสีย ในระบบของเครดิตบูโรนานเท่าใด นับแต่วันที่บัญชีนั้นค้างเกิน 90 วัน

ซึ่งถ้าเอาตามกฎหมายในอดีต ก็ต้องส่งข้อมูลการเป็นหนี้เสียเข้ามาในระบบต่อเนื่องไปตลอดจนกว่าจะมีการชำระเป็นปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บิ๊กอสังหาชี้ไร้สัญญาณศก.ฟื้น หนุนคลัง ล้างประวัติหนี้

: คลัง เสนอปลดล็อกเงื่อนไขเครดิตบูโร สำหรับลูกหนี้เคยค้างชำระหนี้ แต่เคลียร์หนี้จบแล้ว