มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมภาคี ชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส
ประเทศไทยร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580
นอกจากนี้ไทยก็ได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30×30
ในเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด”
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าหัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ (nature-based solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี
“การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และนอกจากนั้นป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้นในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้”
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่
ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่าง ๆ ในระยะยาว
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน
ไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือ 0.86%
“ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย “ปลูกป่า ปลูกคน” นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มปื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต”
ไทยร่วมประชาคมโลกควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศา
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาที่ตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีสจะต้องดำเนินการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปสู่การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับประชาคมโลก รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งเป้าหมายการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สืบสานพระราชปณิธาน ปลูกป่า ปลูกคน ของสมเด็จย่า