“ท่องเที่ยว-5 อุตฯ” งัดกม. สมรสเท่าเทียม โกยเงิน LGBTQIAN+

สมรสเท่าเทียม LGBTQ+
รัฐบาลไทยลงทุนตกแต่งสถนที่หน้าทำเนียบจัดงานเลี้ยงกับกลุ่มตัวแทนความหลากหลายทางเพศหลังกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ผ่านสภาเรียบร้อยแล้วเมื่อ 18 มิ.ย.2567

“เสริมศักดิ์” นำท่องเที่ยวขยายตลาดขานรับ “กม. สมรสเท่าเทียม ” ผ่านสภา หวังไทยเจ้าภาพจัด World Pride ปี’73 ททท.หนุนจัดบิ๊กอีเวนต์ รับตลาด LGBTQIAN+ ทั่วโลก และ 5 อุตสาหกรรม คาดโกยเงินเพิ่มอื้อ “ท่องเที่ยว-อสังหา-Drag-หนังซีรีย์วาย-สุขภาพ”

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่ารัฐบาลเปิดทำเนียบร่วมเฉลิมฉลองและแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านวุฒิสภา ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองกฎหมายดังกล่าว จึงพร้อมนำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อยอดส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศปูพรมเป็นจุดหมายปลายทางท่อเงที่ยว Pride Friendly Destination และเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพดึงงาน World Pride 2030 มาจัดในไทยปี 2573 นำรายได้จากตลาดความหลากหลายทางเพศทั่วโลกเข้าไทยได้เป็นกอบกำ

ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และประเทศที่ 3 ในเอเชีย จากไต้หวันและเนปาล ที่เตรียมใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังที่ประชุมวุฒิสภาผ่านขั้นตอนความเห็นชอบแล้ว แสดงถึงจุดยืนของไทยในการสนับสนุนและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกสถานะ มีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมควบคู่ไปด้วย

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมนอกจากจะสร้างความสุขกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแล้วยังประกาศให้ทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์เความเท่าเทียมที่จะช่วยเติมเต็มจุดขายการท่องเที่ยวในคอนเซ็ปต์ Amazing Thailand , Paradise for All จะเป็นหมุดหมายใหม่รองรับกลุ่มนักเดินทาง LGBTQIAN+ จากทั่วโลกอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการกระตุ้นบรรยากาศท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวที่มีศักยภาพใช้จ่ายเงินสูง

หลังจากนี้เป็นต้นไป ททท. พร้อมต่อยอดส่งเสริมศักยภาพให้ไทยเป็น Tourism Hub และ Top LGBTQIAN+ Friendly Destination ร่วมแสดงจุดยืนและเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เดือนแห่งไพรด์ตลอดมิถุนายน 2567สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น มหกรรมไพรด์ทั่วประเทศ (Nation Wide Pride Festival) จัดต่อเนื่องตั้งแต่ 31 พฤษภาคม – มิถุนายน 2567 งานไทยแลนด์ ไพรด์ 2024 วันที่ 29 มิถุนายน งานไพรด์ เนชั่น สมุย อินเตอร์เนชั่น ไพรด์ เฟสติวัล วันที่ 24 – 29 มิถุนายน งาน เลิฟ ไพรด์ ♡  พาเหรด 2024 วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งจะร่วมผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานอินเตอร์ ไพรด์ เวิลด์ คอนเฟอเรนซ์ 2025 และ Bangkok World Pride 2030

ในภาพรวมหลังรัฐบาลไทยเตรียมใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม สามารถช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 อุตสาหกรรม ได้แก่

5 อุตสาหกรรม

1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน 2567 มีกว่า นักเดินทางไพรด์เข้ามาไทยแล้ว 800,000 คน ใช้จ่ายเงินมากกว่านักท่องเที่ยวปกติ 15 % ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไพรด์จากนานาชาติมาไทยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1.3 ล้านคน มีบางส่วนอาศัยอยู่ในไทย 1.7 ล้านคน สถิติปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิดใช้จ่ายเงินปีละ 2.39 แสนล้านบาท

2.อุตสาหกรรมภาพยนต์ซีรีย์วายปีที่ผ่านมาผลิตขายได้ถึง 177 เรื่อง ปี 2567 มีแนวโน้มจะเติบโต 1 เท่า สร้างมูลค่าราว 1,200 ล้านบาท

3.อุตสาหกรรมแดร็ก Drag หรือกการแต่งกายเป็นเพศต่าง ๆ จะใช้จ่ายเงินมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีสถิติรายได้อย่างเป็นทางการ ตามปกติช่วงเทศกาลต่าง ๆ กลุ่มความหลากหลายทางเพศใช้จ่ายเงินรวมแล้วประมาณครั้งละ 4,000-49,000 บาท เพื่อซื้อเครื่องแต่งกาย แต่งหน้า เครื่องประดับ แอคเซสซารี่ต่าง ๆ

4.อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เฉพาะให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียวต้องใช้จ่ายรายครั้ง 500-2,000 บาท ยังไม่นับรวมการแปลงเพศและอื่น ๆ ซึ่งใช้จ่ายคนละหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทขึ้นไป

5.อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้หลายแบรนด์อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในไทย ยืนยันจะได้อานิสงด้วยการทำยอดขายเพิ่มได้อีกปีละกว่า 4,000 ล้านบาท จากกลุ่มหลากหลายทางเพศซึ่งมีรายได้ 50,000-85,000 บาท/คน/เดือน มีอยู่ประมาณ 9 % และรายได้เกิน 85,000 บาท/คน/เดือน มีประมาณ 4% ของทั้งหมด

สำหรับการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว คู่สมรสยังมีสิทธิและประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติ เช่น 1.สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส 2.สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา 3.สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิรับบุตรบุญธรรม 4.สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 5.สิทธิจัดการศพ 6.สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส หลัก ๆ คือ สิทธิประกันสังคม สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล 7.สิทธิของ คู่สมรสที่มีสิทธิในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

สมรสเท่าเทียม #LGBTQ+
คณะของ LGBTQIAN+ นำขบวนแรลลี่แห่จากหน้าทำเนียบรัฐบาลไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำกิจกรรมวันแห่งประวัติศาสตร์ “ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม” และร่วม Bangkok Pride 2024

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภา ที่ทำเนียบรัฐบาลได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายดังกล่าว ภายหลังร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม) ผ่านการพิจารณาในวาระ 2-3 วุฒิสภา สมัยวิสามัญ

นำทีมโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับหน้าที่เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรีต้อนรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน จัดขบวนแรลลี่ฉลองสมรสเท่าเทียม หรือ ไพรด์ คาราวานจากรัฐสภา โดยแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม มายังสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ได้จัดซุ้มนิทรรศการ ปูพรมทำถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม รอบทางเดินหน้าตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมกับการแจกของที่ระลึกสีรุ้ง เป็นสัญลักษณ์ความเท่าเทียม ภายในงานเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานด้วย เช่น ธงจิ๋ว, พัด, สายสะพาย และเข็มกลัด

สมรสเท่าเทียม LGBTQ+
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรีต้อนรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ร่วมฉลองกฏหมายสมรสเท่าเทียมของไทยประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริเวณไฮไลท์จุดเช็คอิน จัดทำมือลมสีรุ้งขนาดยักษ์ จัดกิจกรรมมากมายทั้ง เวิร์คช็อปเพ้นท์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติ๊กเกอร์ ซุ้มดอกไม้ จุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม โดยมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการเข้าร่วมด้วย ได้แก่ เอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ นายคชาภา ตันเจริญ หรือ มดดำ นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือวู้ดดี้ นายเขมรัชต์ สุนทรนนท์ หรือดีเจอ๋อง นายธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล  หรือดีเจบุ๊คโกะ นายไพทูรย์ ขำขัน หรือเจ๊แขก เจ้าของร้าน ขนมครกเจ๊แขกแหกปาก จ.นครปฐม.

โดยมีขบวนแรลลี่ฉลองสมรสเท่าเทียมเคลื่อนขบวนต่อไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกิจกรรมวันแห่งประวัติศาสตร์ “ชัยชนะของสมรสเท่าเทียม” Bangkok Pride 2024, Celebration of Love โดยได้จัดเสวนาอนาคตของครอบครัวภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียม การแถลงชัยชนะของสมรสเท่าเทียม โดย คุณวาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งนฤมิตไพรด์ และแบงค็อก ไพรด์ รวมทั้งทำพิธีเปิดสัญลักษณ์สมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

-เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เริ่มแล้ว “Bangkok Pride Festival 2024” เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม