“สส.เพื่อไทย” เข้าชื่อ เสนอแก้ไขกฎหมาย เปิดทางทวงคืนความยุติธรรม

“สส.เพื่อไทย” เข้าชื่อ เสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ เปิดทางผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีเอง ทวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน

  • ป.ป.ช.สั่งไม่รับคำร้อง-สั่งว่าคดีไม่มีมูล
  • ควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดไปพิจารณา
  • หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง
  • ควรจะให้สิทธิผู้เสียหายในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พร้อม สส. พรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณา เป็นการเปิดทางให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องคดีเพื่อพิสูจน์ความยุติธรรมได้

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สส.พรรคเพื่อไทยร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสาระสำคัญคือเราอยากให้สิทธิผู้เสียหายในการที่จะฟ้องคดีได้เอง ในกรณีที่ 1 ป.ป.ช.สั่งไม่รับคำร้อง หรือ 2. กรณี ป.ป.ช.สั่งว่าคดีไม่มีมูล ซึ่งเราก็คิดว่าเรื่องไม่น่าจะจบที่ ป.ป.ช.เท่านั้น ควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดไปพิจารณา หากอัยการสูงสุดเห็นว่ามีมูลก็ให้สามารถสั่งฟ้องได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ในกรณีไม่มีคดีที่จะนำสู่ศาลได้ โดยสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งไม่รับคำร้อง หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ควรจะให้สิทธิผู้เสียหายในการนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ เพื่อพิสูจน์ความยุติธรรม แสวงหาความเป็นธรรม

ทั้งนี้จะทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยการฟ้องคดีได้เอง จะทำให้กระบวนการยุติธรรมคุ้มครองผู้เสียหาย ไม่ใช่เพียงแค่ ป.ป.ช. สั่งไม่ฟ้องหรือสั่งไม่มีมูลแล้วยุติหรือสิ้นสุดเลยโดยผู้เสียหายก็ไม่ได้รับการเยียวยาโดยประการอื่นใด นอกจากนี้ยังเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประกอบคู่กัน เมื่อให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้เองก็ควรให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อได้รับร่างแก้ไขกฎหมายมาแล้ว ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายชื่อและข้อบังคับ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ