“เอกนัฏ” ส่งทีมปฏิบัติการสุดซอยลุยตรวจโรงงานในเขตฟรีโซน พบโรงงานที่ถูกสั่งระงับตั้งแต่ พ.ค. 66 ลอบเปิดกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกรรมการผู้จัดการรับสารภาพโดยดี “ฐิติภัสร์“ ซัดอ้างขั้นตอนขออนุญาตล่าช้า ทั้งที่ไม่พยายามปรับปรุงให้ถูกต้อง แล้วตีมึนต่อเติมโรงงาน-ลงเครื่องจักร เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลั่นต้องเอาผิดให้ถึงที่สุด
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ได้ส่งชุดตรวจการสุดซอย นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กรมศุลกากร และอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงตรวจเขตปลอดอากร บริษัท พี.ซี.วู๊ดโพรดักส์ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งประกอบกิจการนำเข้าวัสดุมาคัดแยกบดย่อย และส่งออก
รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวต่อว่า เขตปลอดอากรหรือฟรีโซนแห่งนี้เคยถูกสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราออกหนังสือสั่งระงับการฝ่าฝืนตั้งโรงงานและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมาจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.โรงงานฯ) แต่ในขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 กลับพบว่า โรงงานยังฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ลักลอบประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันแจ้งข้อหาและดำเนินคดีกับนายศรัญย์ กลิ่นสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ซี.วู๊ดโพรดักส์ จำกัด ซึ่งจับกุมได้ในที่เกิดเหตุและยอมรับสารภาพตามที่เจ้าพนักงานแจ้งข้อหา
“ปฏิบัติการตรวจสุดซอยในพื้นที่เขตปลอดอากรนี้ ถือเป็นหนึ่งในมาตราการปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อควบคุมไม่ให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากรหรือฟรีโซน ซึ่งถือว่ามีสิทธิประโยชน์มากกว่าพื้นที่ทั่วไปก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย” นายเอกนัฏ กล่าว
หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีฯ ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสอบถามกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ เบื้องต้นอ้างว่า ขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ กับ กรอ. มีขั้นตอนที่ล่าช้า ซึ่งในความเป็นจริงพบว่า ตั้งแต่ถูกสั่งระงับกิจการมาเป็นเวลากว่าปีเศษ โรงงานยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานในการออกใบอนุญาตโรงงานได้ ขณะเดียวกันกลับมีการต่อเติมโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักร พร้อมเดินเครื่องประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง จึงต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม ประชาชน และชุมชนในอนาคต
“ผู้กระทำผิดไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างว่า ขั้นตอนการขออนุญาตล่าช้า เพราะจากการตรวจสอบก็ชัดเจนว่า โรงงานเองที่ไม่มีความพยายามในการปรับปรุงหรือแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรฐาน แล้วยังลักลอบประกอบกิจการ ซึ่งก็รู้ว่า ผิดกฎหมาย ตามปฏิบัติการสุดซอยจึงต้องจับกุมแล้วดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “เอกนัฏ” ลุยกวาดล้างโรงงานเถื่อน จ.ฉะเชิงเทรา พบไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย