คนไทยพฤติกรรมสุขภาพแย่ลง “สูบบุหรี่-กินข้าวนอกบ้าน” เสี่ยงเกิดโรค

คนไทยพฤติกรรมสุขภาพแย่ลง “สูบบุหรี่-กินข้าวนอกบ้าน-ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ” เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังพุ่ง ผุด “หลักสูตรออมสุขภาพ” จูงใจคนออกกำลังกาย

  • เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังพุ่ง
  • ผุด “หลักสูตรออมสุขภาพ”
  • จูงใจคนออกกำลังกาย

วันที่ 9 มี.ค.2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพมหานคร นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 พบคนวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพใน 4 เรื่อง 1.พฤติกรรมสูบบุหรี่ โดยพบว่า 1 ใน 5 สูบบุหรี่ทุกวัน 2.พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ 1 ใน 4 ดื่มอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์

3.กินอาหารนอกบ้าน จากร้านหรือตลาด หวาน มัน เค็มจัด และ 4.มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ความรอบรู้ และปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพวัยทำงาน โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า กิจกรรมทางกายของวัยทำงานลดลงต่อเนื่อง จากร้อยละ 73.44 ในปี 2564 เหลือร้อยละ 63.31 ในปี 2566 สะท้อนการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต

ทั้งนี้สสส. สานพลัง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรออมสุขภาพ รับวัยอิสระ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้นำสุขภาพ สู่การเป็นนักออมสุขภาพ ในองค์กร 200 แห่งทั่วประเทศ เป็นบุคคลต้นแบบในการดูแลสุขภาพในองค์กรและสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในองค์กร ที่ส่งผลถึงการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ รองรับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักสูตรต้นแบบ “ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงาน ดูแลสุขภาพ และปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลไปถึงการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ รองรับสถานการณ์ที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย โดยมีเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมทั้งด้านการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ การเพิ่มกิจกรรมทางกาย การสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ การสร้างความมั่นคงทางการเงิน และการท่องเที่ยว/เดินทางอย่างสุขภาพดี

ขณะที่ รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ในฐานะประธานหลักสูตรออมสุขภาพรับวัยอิสระ กล่าวว่า หลักสูตรออมสุขภาพนี้ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง 1.เปิดบัญชีสุขภาพ ผู้เข้าอบรมลงทะเบียนเป็นนักออมสุขภาพ รับการประเมินร่างกาย ความเครียด ความสุข และแผนปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ 2.ช่วงออมสุขภาพ อบรมสร้างความรู้ และฝึกปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ ทุกวันศุกร์-เสาร์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย ปลูกผักสวนครัว ทำอาหาร เดินทางท่องเที่ยวอย่างสุขภาพดี โดยสะสมเหรียญสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน Health Coin

3.รับผลตอบแทน นักออมสุขภาพรับการประเมินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมติดตามผลการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ในงาน Healthy Organization Award ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ในเดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายคนไทยไร้พุง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่อีเมล์ [email protected]

“การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปลอดโรค NCDs ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขถึงวันสุดท้ายของชีวิต จำเป็นต้องตั้งเป้าหมาย วางแผนปฏิบัติให้ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เปรียบเสมือนการเปิดบัญชีสุขภาพ ตั้งเป้าหมายสุขภาพ และเริ่มเก็บออมความรู้ ฝึกปฏิบัติพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง สะสมให้เกิดผลตอบแทนการออมสุขภาพออกในระยะยาว เก็บออมสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เพื่อความมั่งมีทั้งสุขภาพกาย ใจ การเงินในวันหน้า หรือ Save your health, Save your wealth” รศ.นพ.เพชร กล่าว