สถาบันอาหาร ลุยฮาลาลฮับ-ชู 1 เชฟ 1 หมู่บ้าน-ชิงตลาดส่งออก

ศูนย์ฮาลาลไทย
สถาบันอาหาร นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเร่งตั้งศูนย์ฮาลาลแห่งประเทศไทย และเดินหน้าทำโครงการ 1 เชฟ 1 หมู่บ้าน

สถาบันอาหาร ลุย 2 บิ๊กโปรเจกต์ “ซอฟท์พาวเวอร์” ร่วม 11 อุตสาหกรรมใหญ่เปิดคอนเฟอร์เรนซ์แรก 28-30 มิ.ย.นี้ขานรับนโยบาย “ตั้งศูนย์ฮาลาลแห่งประเทศไทย” ชิงเค้กตลาดโลก 2.1 ล้านล้านดอลล์นำร่องเปิด 2 โครงการ “1เชฟ 1หมู่บ้าน” และ “Local Chef Thai Restaurant” ดันอาหารสัตว์เลี้ยงไทยส่งออกติดอันดับ3ของโลก

สถาบันอาหาร
ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร (nfi) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2567 กำลังเร่งทำ 2 โครงการใหญ่ เริ่มด้วย โครงการที่ 1 ซอฟท์ พาวเวอร์ ด้านอาหาร ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งมอบมายังสถาบันอาหารเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ โครงการที่ 2 จัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลแห่งประเทศไทย

ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาหารฮาลาล แล้วก็มีโครงการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสนับสนุนชุมชนเป็นดาวรุ่ง และอุตสาหกรรมใหม่อาหารสัตว์เลี้ยงเทรนด์ใหม่คล้ายอาหารมนุษย์ซึ่งไทยสามารถส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก

โครงการแรก เตรียมร่วมเวทีงานคอนเฟอเรนซ์ อุตสาหกรรม ซอฟท์ พาวเวอร์ 11 สาขา วันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีอุตสาหกรรมอาหารรวมอยู่ด้วย จะได้นำเสนอถึงแรงบันดาลใจ การเชิญชวนเข้าร่วมอุตสาหกรรมในกลุ่มอาหารจะมีเชฟดังจากทั่วประเทศมาร่วมสาธิตด้วย

ตามแผนปี 2567 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกลางให้สถาบันอาหารนำมาใช้ขับเคลื่อน 2 โครงการ ประกอบด้วย

  • โครงการแรก 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย เป้าหมายเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพเชฟ ปัจจุบันหลังสถานการณ์โควิดจบลงทั่วโลกขาดแคลนเชฟอาหารโดยเฉพาะอาหารไทย ปีนี้งบมาล่าช้าจึงจะขยับเป้าผลิตให้ได้เพียง 6,500 ราย จากเดิมตั้งไว้ 10,000 ราย แล้วจะไปเพิ่มจำนวนการผลิตปี 2568 ตลอดทั้งปีให้เกินกว่า 10,000 ราย เนื่องจากเป็นโครงการทำต่อเนื่อง 4 ปี

ตามแผนขับเคลื่อนโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ผลิตแล้วจะให้ไปอบรมเป็นโค้ชเชฟอื่น ๆ โดยจะเปิดรับสมัครผู้สนใจผ่านช่องทางกองทุนหมู่บ้าน เข้าร่วมอบรมออนไลน์และออฟไลน์รวม 90 ชั่วโมง จัดทำหลักสูตรผ่านหลายกระทรวงบูรณาการร่วมกัน นำโดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันคุณาวิชาชีพ กระทรวงแรงงาน ผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรด้วย

  • โครงการที่สอง Local Chef Thai Restaurant ต่อยอดจากขณะนี้ทุกหมู่บ้านในเมืองไทยมีเชฟท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นอยู่จำนวนมากทำเมนูน่าสนใจ แต่ยังขาดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ความคิดเชิงสร้างสรรค์ อาจจะต้องเพิ่มเติมได้อีก

ทางสถาบันจึงจะนำโครงการนี้เข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพอาหารถิ่น ยืดอายุอาหาร (Shelf life) โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น เมนูขนมจีนน้ำยาภาคใต้ ใช้เครื่องมือปรับปรุงให้อยู่ได้หลายเดือน หรือขนมไทยไปทำข้าวต้มมัดแบรนด์แม่เอย จนสามารถทำให้ขนมมัดอยู่ได้เป็นปีโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น

สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์ฮาลาลแห่งประเทศไทยเป็นความริเริ่มของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกรทะรวงอุตสาหกรรม ต้องการขยายตลาดส่งออกขานรับตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 ใน 10 หรือท็อปเทนของโลก มูลค่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาท หากตั้งศูนย์ฮาลาลจะเร่งทำ 2 เรื่อง คือ 1.เปิดช่องทางใหม่ขยายตลาด   เพิ่มยอดส่งออกให้ได้มากที่สุด 2.เพิ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมฮาลาลทั่วโลก

ตามแผนจะเริ่มเดินทางไปต่างประเทศเริ่มจากไปร่วมงานที่บรูไนเดือนสิงหาคม 2567 ต่อด้วยมาเลเซียร่วมงาน “มิฮัจ” ฮาลาลใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดือนกันยายน นี้ นำผู้ประกอบการกว่า 60 รายไปเปิดตัวในแต่ละงาน ซึ่งจะต้องบริหารจัดงานเพื่อทำงานร่วมกับพันธมิตรค่อนข้างมาก

ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่า สถาบันอาหารยังได้ริเริ่มทำอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food เพราะทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารต่าง ๆ ตอนนี้ไทยส่งออกอาหารสุนัข แมว นก มีโรงงานรับจ้างผลิตตลาดเติบโตสูงมาก ผนวกกับแนวโน้มคนที่มีสัตว์เลี้ยงดูแลเสมือนลูกนั้นได้ประยุกต์ทำจาก Plant Base กับ Fuctional food

สถาบันอาหาร ฮาลาล
ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของไทยได้รับความนิยมจากตลาดนานาชาติทั่วโลก

อาหารเสริมช่วยลดคอเรสเตอรัล และอื่น ๆ เป็นเทรนด์ใหม่ทางโภชนาการอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีผู้ผลิตรายใหญ่หลายโรงงานในเมืองไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากไทยมีโรงงานอาหารทะเลขนาดใหญ่นำส่วนที่เหลือมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ระยะหลังมีผู้ประกอบการขอให้สถาบันอาหารช่วยพัฒนาสูตรและดูแลเรื่องสารปนเปื้อนด้วย เป็นไปตามภารกิจขององค์กรเน้นใช้นวัตกรรม ยืดอายุอาหาร โดยมีเครื่องมือทดสอบกับห้องแลบตรวจสอบสารปนเปื้อน รวมทั้งโรงงานในสถาบันอาหารช่วยผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้

ปัจจุบันมีโมเดลสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG : Environmental, Social and Governance เน้นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ส่งผลให้สถาบันอาหารต้องเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมด้วย เช่น ชุมชนริมเขื่อนในอุตรดิตถ์ปลูกไร่มะม่วงหิมพานต์ มีสินค้าตกเกรดไปต่อยอดผลิตนมมะม่วงหิมพานต์ หรือแม่ฮ่องสอนนำเปลือกกระหล่ำปลีที่เสียหายมาพัฒนาใหม่เป็นอาหารสแน็กอย่างข้าวเกรียบกระหล่ำปลี และน้ำเต้าหู้ 1 ในฮาลาลฟู้ด ตอนนี้มีนวัตกรรมรสชาติต่าง  ๆ ที่โดนใจตลาดคือรสนมกระทิแล้วเพิ่มโภชนาการอาหารเข้าไปด้วย

ดังนั้นสถาบันอาหารจะต้องเตรียมความพร้อมคือ “บุคลากร” ที่จะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนซึ่งมีความน่าสนใจจากนักท่องเที่ยว มีผลิตภัณฑ์ที่มีอายุใช้งานสั้นมาก จึงได้เข้าไปเน้นผลักดันการทำ “ผลิตภัณฑ์สร้างเศรษฐกิจชุมชน” ทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และกองทุนต่าง ๆ ปัจจุบันทำร่วมกองทุนพัฒนาไฟฟ้าซึ่งได้รับงบประมาณยกระดับสินค้าและบริการ ทำให้ชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระจายทำโครงการตามพื้นที่ต่าง ๆ ทุกแห่งที่สร้างมลพิษแล้วนำอาหารเข้าไปช่วยตอบโจทย์ให้ชุมชนมีชีวิตดีขึ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตมากขึ้น โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีอยู่ไปสร้างนวัตกรรมอาหารเทรนด์ใหม่ เช่น ไข่ผำ สามารถพัฒนาเป็นผงชงกินได้ หรือแกงเรียงทำให้แห้งเป็นผงแล้วส่งออกเมื่อเทน้ำลงไปก็ได้รับประทานเมนูเหมือนปกติทุกอย่าง

เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza

สถาบันอาหาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เศรษฐา ร่วมกิจกรรม สร้างโอกาส 3จังหวัดชายแดนใต้ ดัน “ครัวฮาลาลโลก”