นายกฯเศรษฐาต้อนรับ ปธน.เยอรมนี ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้การต้อนรับดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ณ ทำเนียบรัฐบาล

นายกฯเศรษฐาต้อนรับ ประธานาธิบดีเยอรมนี ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ กำหนดเป้าหมายความร่วมมือสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

  • ชวนนักธุรกิจเยอรมันลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยและเยอรมนี
  • ส่งเสริมการทำเกษตรในไทยแบบยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ความร่วมมือในการแก้ไขฝุ่นพีเอ็ม2.5

วันนี้ (25 มกราคม 2567)นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้การต้อนรับดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ณ ทำเนียบรัฐบาล

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนี

โดยในช่วงเวลา 10.00 น. มีพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีและภริยา และประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยา ถ่ายภาพร่วมกัน ณ บันไดโถงกลาง ตึกไทยคู่ฟ้า คณะรัฐมนตรี แนะนำตนเองต่อประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยา ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า

ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ ห้องสีงาช้าง (ด้านนอก) ตึกไทยคู่ฟ้า

 เวลา 10.15 น.   นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีเยอรมนี หารือข้อราชการ ณ ห้องสีงาช้าง

เวลา 10.45 น.   นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีเยอรมนี หารือร่วมภาคเอกชน ณ ตึกภักดีบดินทร์  

เวลา 11.45 น.   นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีเยอรมนี แถลงข่าวร่วม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน)  พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี

เวลา 12.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยา ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้นายเศรษฐากล่าวในการแถลงข่าวร่วมกันว่า ประเทศไทย และเยอรมนี มีความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 162 ปี การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนี ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับ1ในยุโรปของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ในอาเซียนของเยอรมัน ไทยและเยอรมัน เห็นพ้องต้องกันว่าต้องกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์ สู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

“ผมได้หารือกับประธานาธิบดีเยอรมนีในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง ประเด็นความร่วมมือในเรื่องความยั่งยืน และการรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เยอรมนีพร้อมให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2040 การลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และเยอรมนีจะส่งเสริมการทำเกษตรในไทยแบบยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมมือในการแก้ไขฝุ่นพีเอ็ม2.5” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ยังได้พานักธุรกิจภาคเอกชนของเยอรมนีร่วมคณะมาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งได้แจ้งให้ทราบถึงข้อมูลด้านศักยภาพ และด้านเศรษฐกิจของไทย และโอกาสใหม่ๆของนักธุรกิจเยอรมนี หลังจากที่ไทยบรรลุข้อตกลงการเจรจาการเปิดเขตการค้าเสรียุโรป ตั้งเป้าสำเร็จในปี 2568 และได้แจ้งให้ทราบนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และโครงการแลนด์บริดจ์ การส่งเสริมด้านการขนส่งระบบราง และโลจิสติกส์ของการ ความง่ายในการทำธุรกิจ และการสร้างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งภาคเอกชนของเยอรมนีสนใจเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย การผลิตเม็ดพลาสติกด้านรีไซเคิล และเม็ดพลาสติกจากขยะ

นอกจากนี้ยังได้หารือกับประธานาธิบดีเยอรมนี เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 700,000 คน ชาวเยอรมนีได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่า 30 วัน ขอให้เยอรมันช่วยเจรจาในสหภาพยุโรป ช่วยยกเว้นการตรวจลงตราเชงเก้น (Schengen Visa) แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางจากไทยด้วย