สภาพัฒน์ แถลง จีดีพีไทย ไตรมาสแรก ปี2567 ขยายตัว 1.5%

จีดีพีไทย ไตรมาสแรก สภาพัฒน์
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาพัฒน์ แถลง จีดีพีไทย ไตรมาสแรก ปี2567 ขยายตัว 1.5% ท่องเที่ยว -ใช้จ่ายภาคเอกชน ช่วยหนุนส่ง ขณะที่การลงทุนรวมติดลบ 4.2% คาดทั้งปี2567 ขยายตัว 2-3% ค่าเฉลี่ย 2.5%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะ เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรก ปี 2567 โดยระบุว่า

สภาพัฒน์ เผย จีดีพีไทย ไตรมาสแรก ขยายตัว 1.5%

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของไทย ขยายตัว ร้อยละ 1.5 ต่อเนื่อง จากการขยายตัว ร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4/2566 

ปัจจัยหลัก มาจาก การผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัว จากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ ภาคการเกษตร และหมวดอุตสาหกรรมลดลง  ด้านการ ใช้จ่ายรัฐบาล และการลงทุนรวมลดลง ต่อเนื่อง

ขณะที่การส่งออกสินค้า และบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้าย ของเอกชน ชะลอลง

สภาพัฒน์ จีดีพีไทย ไตรมาสแรก
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ด้านการผลิต ด้านรายจ่าย

ภาคเกษตร ลดลงร้อยละ 3.5 ปัจจัยหลักจากผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ  เช่น ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน อ้อย และผลไม้ ลดลง ขณะที่ กลุ่มปศุสัตว์ขยายตัวจากผลผลิตจากโคและสัตว์ปีก ประกอบกับสาขา ประมงขยายตัว 

ภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.0 ประกอบด้วย

หมวดอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.2 ปัจจัยสำคัญจาก การผลิตสินค้า อุตสาหกรรมลดลง ต่อเนื่อง ขณะที่สาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ  และระบบปรับอากาศเร่งตัว 

หมวดบริการ ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากสาขาการขายส่ง และการขายปลีก และสาขากิจกรรม ทางการเงิน และการ ประกันภัย ที่ยังคงขยายตัว ต่อเนื่อง

ขณะที่ สาขาก่อสร้างลดลง จากการก่อสร้างภาครัฐ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สาขาที่พักแรม และบริการด้านอาหารขยายตัว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ เพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายภาคเอกชนโตต่อเนื่อง ขยายตัว 6.9%

การใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคบริโภค ขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว ร้อยละ 6.9 ปัจจัยสำคัญมาจากการใช้จ่าย หมวดสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทน และหมวดบริการ ยังคงขยายตัว  ขณะที่กลุ่มสินค้าคงทนลดลง

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 2.1  ปัจจัยหลัก มาจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2567 ล่าช้า  ส่งผลให้ รายจ่าย ค่าซื้อสินค้าและบริการ และ การโอนเพื่อสวัสดิการสังคม ที่ไม่เป็นตัวเงิน สำหรับสินค้าและบริการ ในระบบตลาด ลดลง  อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนแรงงานขยายตัว 

การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 4.2 ปัจจัยหลัก มาจาก การลงทุนภาครัฐ ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุน ภาคเอกชนขยายตัว จากการก่อสร้าง  และ การลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือ 

ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 81,200 ล้านบาท  โดยดุลการค้าเกินดุล 58,600 ล้านบาท และดุลบริการเกินดุล  22,600 ล้านบาท

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี มีมูลค่า 4,614,700 ล้านบาท เมื่อหักรายได้ปฐมภูมิสุทธิจ่ายไปต่างประเทศ 67,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income: GNI) 4,547,700 ล้านบาท

สภาพัฒน์ จีพีดีไทย ปี2567
ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาพัฒน์ คาด จีดีพีไทย ทั้งปี2567 ขยายตัว 2.5%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567คาดว่าจะขยายตัว ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 2.5) ปรับตัวดีขึ้น อย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในปี 2566

ทั้งนี้ คาดว่า การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 – 1.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 ของจีดีพี

ปัจจัยสนับสนุน

  • การเพิ่มขึ้น ของแรงสนับสนุน จากการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ ในช่วงที่เหลือของปี
  • การฟื้นตัว อย่างต่อเนื่อง ของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • การขยายตัว ในเกณฑ์ดี ของการอุปโภคบริโภค ภายในประเทศ โดยเฉพาะในหมวดบริการ
  • การขยายตัว อย่างต่อเนื่อง ของการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับ การขยายตัวของการนำเข้า สินค้าทุน รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
  • การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้า ตามการฟื้นตัว ของการค้าโลก

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

  • ภาระหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจ ที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มขึ้น ของภาระดอกเบี้ย ส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังการให้สินเชื่อ มากขึ้น
  • ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก ที่อาจเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geo Politics)
  • การปรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ

  • การเร่งรัด การเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
  • การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับ การยกระดับศักยภาพ การผลิตและเพิ่มขีดความสามารถ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
  • การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดย การติดตาม และวางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำการเตรียมความพร้อม ต่อปัญหาอุทกภัย  การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับ ผลกระทบจากภัยแล้ง ให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว
  • การสนับสนุน งานวิจัยและพัฒนา เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช การเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกร ผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล และ การเฝ้าระวัง ติดตาม การปราบปราม การลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย
  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของ ตลาดโลก ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดย  การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง   
  • การสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อม ของระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรม เป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย   การดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง
  • การเตรียมมาตรการ เพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จาก ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในระยะต่อไป ทั้งจากการยกระดับความรุนแรงของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวน ในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : The Journalist Club สัมภาษณ์พิเศษ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์