สทนช.จัดการจราจรระบายน้ำลดผลกระทบน้ำท่วม

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

สทนช.จัดการจราจรระบายน้ำลดผลกระทบน้ำท่วม “สุรสีห์”สั่งเร่งเก็บกักให้ได้มากที่สุด หวังเพิ่มน้ำต้นทุนใช้รับมือ “เอลนีโญ”

  • คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝน หลังฝนตกหนักในหลายพื้นที่
  • หวังเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนต่างๆ
  • โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและEEC รับมือเอลนีโญ

สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช.ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน และคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ”

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในช่วงปลายฤดูฝนว่า สถานการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณฝนตกในประเทศไทยปีนี้น้อยกว่าค่าปกติประมาณ 14% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 31% และภาคตะวันออก 26% แต่อย่างไรก็ตาม จากการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 26-29 ก.ย. 66 ให้ระมัดระวังฝนตกหนัก และฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่

เนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก โดยจะมีฝนตกหนักมากในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ในช่วงสัปดาห์นี้จะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 4,700 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อีกประมาณ 220 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนความต้องการใช้น้ำทั้งภาคอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรต่อเนื่อง และไม้ผล ได้อย่างเพียงพอ

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ในพื้นที่ตอนบนเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน สทนช.ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักของลุ่มเจ้าพระยา พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรที่มีแหล่งเก็บกักน้ำเป็นของตัวเอง ให้เก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดจากสภาวะเอลนีโญ

สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช.ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน และคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ เช่นเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มอบหมายให้กรมชลประทานผันน้ำผ่านระบบคลองต่างๆ ที่อยู่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ริมคลอง พร้อมทั้งให้กักเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ รวมไปถึงคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทานให้ได้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับประชาชนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากปริมาณน้ำที่จะระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายน้ำผ่านระบบชลประทานฝั่งตะวันออกส่วนหนึ่ง จะไปเพิ่มปริมาณน้ำในคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทำให้สูบผันน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำด้านอุปโภค-บริโภคและการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี ไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้รองรับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2567 และควบคุมการระบายน้ำในทางน้ำต่างๆ ให้มีผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด