กรมประมง ชวนเช็คก่อนทำบาป สงกรานต์นี้เลือกปล่อยปลาชนิดใดดี?

กรมประมง
คนปล่อยปลา

กรมประมง กระตุกสายบุญ ก่อนทำบาปไม่รู้ตัว “สงกรานต์” นี้เลือกชนิดสัตว์น้ำให้เหมาะสมก่อนปล่อย เพื่อรักษาระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มปลาดุก ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาทอง ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำเด็ดขาด

  • เลือกชนิดสัตว์น้ำให้เหมาะสมก่อนปล่อย
  • เพื่อรักษาระบบนิเวศ
  • และความหลากหลายทางชีวภาพ

วันที่ 12 เมษายน 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในช่วงวันสำคัญ หรือช่วงเทศกาลใหญ่ อย่างเช่นสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยที่ใกล้จะถึงนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ชื่นชอบการเข้าวัดทำบุญ มักจะมีกิจกรรมปล่อยปลาร่วมด้วย เนื่องจากเชื่อว่าการทำบุญปล่อยปลานั้น เป็นการปฏิบัติธรรมที่มีความหมายสูงสุดแห่งความเมตตากรุณาต่อสัตว์มีชีวิต เชื่อว่าจะเป็นการสร้างบุญกุศลครั้งใหญ่ และเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต และเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ถือเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์น้ำนั้น หากสัตว์น้ำที่เลือกมาปล่อยเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือการเลือกชนิดสัตว์น้ำที่ไม่เหมาะสมต่อแหล่งน้ำ การทำบุญก็จะกลายเป็นการทำบาปแทนได้ เช่น ปลาซัคเกอร์ ปลาดุกบิ๊กอุย เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง ตะพาบใต้หวัน ฯลฯ ส่งผลให้สัตว์น้ำเหล่านี้เมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะรุกรานพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นของไทย จนทำให้บางชนิดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งยังทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย

ทั้งนี้กรมประมงได้เน้นเตือนและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเลือกปล่อยชนิดสัตว์น้ำที่เหมาะสมเมื่อต้องการทำบุญปล่อยปลา โดยควรเป็นพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นของไทยที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยขาว ปลาโพง (ปลาสุลต่าน) ปลากาดำ ปลายี่สกไทย ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลาบู่ทราย ปลาสลาด ปลากราย ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลากดแก้ว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มปลาดังกล่าวเป็นปลาที่สามารถอาศัยได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป หากเป็นปลาที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะ เช่น ปลาบึก ก็ควรปล่อยลงในลำน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง

ส่วนสัตว์น้ำบางชนิดจำเป็นต้องเลือกพื้นที่ปล่อยให้เหมาะสม เพื่อสามารถใช้ชีวิตรอดและเจริญเติบโตได้ อย่างเช่น ปลาไหลนา ควรถูกปล่อยลงในบริเวณที่กระแสน้ำไหลเอื่อย พื้นที่เป็นดินแฉะ เพื่อให้ปลาไหลได้ขุดรูอาศัย ปลาบู่ทราย ควรปล่อยบริเวณที่มีก้อนหิน ขอนไม้หรือไม้ชายน้ำ และปล่อยตัวที่มีขนาดใหญ่พอสมควรเพราะจะมีโอกาสรอดสูงกว่าตัวเล็กๆ ปลาหมอไทย ควรปล่อย ลำคลอง หนอง บึงที่มีน้ำไหลไม่แรง มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำใหญ่เพราะจะทำให้ปลาไม่สามารถหาอาหารได้และอาจจะเป็นอาหารของปลาตัวใหญ่

ขณะที่ปลาตะเพียน ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ลำคลองที่มีความกว้างและลึก ปลากราย ควรปล่อยลงในแม่น้ำลำคลอง เลือกขนาด4-5นิ้วขึ้นไปแบ่งปล่อยกระจายตามจุดต่างๆเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต้องสัตว์ตังเล็กในพื้นที่ ปลาช่อน ควรปล่อยตามริมตลิ่งชายคลองที่มีพืชน้ำขึ้น ไม่ควรปล่อยจำนวนมาก เพราะเป็นปลากินเนื้อเป็นอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อปลาตัวเล็กตัวน้อย ปลาสวาย ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ลำคลอง ที่ระดับน้ำมีความลึกและกระแสน้ำแรงเพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต ปลาดุกอุยหรือปลาดุกนา ควรปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรง มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำใหญ่ เพราะจะไปกินทำให้ปลาเล็กปลาน้อยระบบนิเวศเสีย

ส่วนการปล่อยเต่า ควรแน่ใจก่อนว่าเต่าชนิดนั้นเป็นเต่าน้ำหรือเต่าบก เพราะหากนำเต่าบกปล่อยลงน้ำ เต่าบกจะไม่สามารถว่ายน้ำได้และตายในที่สุด วิธีการสังเกตว่าเป็นเต่าน้ำคือ เท้าเต่าน้ำจะมีพังผืดเชื่อมต่อระหว่างนิ้วเพื่อใช้สำหรับการว่ายน้ำและมีเล็บแหลมขนาดเล็ก ในขณะที่เท้าเต่าบกไม่มีพังผืดและมีเล็บขนาดใหญ่

ส่วนกบ เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ไม่ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ควรปล่อยที่นาหรือคลองที่มีกอหญ้าเพราะแมลงเป้นอาหารของกบหรือไม่น้ำ หากปล่อยลงแม่น้ำ กบอาจะหาอาหารได้ไม่ดีและจะตายในที่สุด

นอกเหนือจากการเลือกชนิดสัตว์น้ำให้เหมาะสมแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรคำนึง ดังนี้

1.ปริมาณและขนาดของสัตว์น้ำ หากต้องการปล่อยในปริมาณมาก ควรเลือกขนาดที่เป็นลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแหล่งน้ำได้ดีกว่าปลาที่โตแล้ว

2.สุขภาพของสัตว์น้ำ ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค

3.คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ ต้องเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอ ไม่ใช่แหล่งน้ำเสื่อมโทรม โดยสังเกตเบื้องต้นจากสีของน้ำที่ไม่เป็นสีดำ ไม่ขุ่นด้วยตะกอนดิน หรือไม่เป็นน้ำสีเขียวเข้ม และไม่มีกลิ่นฉุน

4.ช่วงเวลาในการปล่อยสัตว์น้ำ ควรเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะอาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวกับอุณหภูมิของน้ำใหม่ไม่ทัน ส่งผลให้สัตว์น้ำป่วยและตายได้

ส่วนสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำโดยเด็ดขาดมีหลายชนิด ได้แก่ กลุ่มปลาดุก เนื่องจากปลาดุกที่หาซื้อได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นปลาดุกลูกผสม และปลาดุกยักษ์ (ปลาดุกรัสเซีย) ที่ถูกเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์มาเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ กลุ่มสัตว์น้ำสวยงามที่มาจากต่างประเทศ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาทอง ปลาคาร์ป ปลากดเกราะหรือปลาซักเกอร์ กลุ่มปลาหมอสี เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง ตะพาบน้ำไต้หวัน และกุ้งเครย์ฟิช เป็นต้น

“ขอให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการทำบุญ โดยไม่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และหันมาปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยที่กรมประมงแนะนำแทน ซึ่งนอกจากจะไม่ทำลายระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้บุญเต็มร้อย เพราะการปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทย ถือเป็นการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนถ้าหากสัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดและเพิ่มจำนวนในแหล่งน้ำ จะส่งผลให้สมดุลของระบบนิเวศสัตว์น้ำพื้นเมืองลดจำนวนลง ซึ่งต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาในการฟื้นฟูแก้ไขมาก ดังนั้นต้องป้องกันไม่ให้มีการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำเป็นดีที่สุด

ดังนั้น กรมประมงขอย้ำเตือนให้พี่น้องประชาชนร่วมใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการเลือกปล่อยสัตว์น้ำตามหลักการที่เหมาะสมและถูกต้อง ไม่ควรใช้ พันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด และขอเชิญชวนให้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำของไทยที่กรมประมงแนะนำแทน การปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยนี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาระบบนิเวศสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

แต่ยังเป็นการทำบุญที่มีคุณค่า เนื่องจากการปล่อยสัตว์น้ำพันธุ์ไทยนี้ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศไทยอีกด้วย หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง หมายเลขติดต่อ 0-2579-5281 เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/ifdd

อ่านข่าวเพิ่มเติมhttps://thejournalistclub.com/economic-news7-10022024/247672/