ททท.พ่วงครม.สัญจร ชูเที่ยวพะเยา 365 วัน 4 เส้นทางใหม่

ททท.สบช่อง ครม.สัญจร เปิดท่องเที่ยวใหม่พะเยา 4 เส้นทาง 48 แห่ง ต่อยอดตลาดไทย ต่างชาติ คึกคักดี ปี’66 ทำรายได้กว่า 2,292 ล้าน โต 24%

  • ททท.ภาคเหนือรุกเร็ว ครม.สัญจร ดันกระแสพะเยาเที่ยวได้ทั้งปี 365 วัน
  • ปี’67 หวังกวาดหมดทุกตลาด สายบุญ สายมู ฟินชิลล์ ธรรมชาติ สายกิน สายอาร์ต

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ภูมิภาคภาคเหนือ ได้ใช้โอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำคณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดประชุมสัญจร วันที่ 18 มี.ค.67 ที่จังหวัดพะเยา นำเสนอเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ขานรับนโยบายรัฐบาลทุกจังหวัดทั่วประเทศเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในโครงการ “ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน” และ “สุขทันที…ที่เที่ยวพะเยา” นำเสนอไฮไลต์เด่น ๆ ท่องเที่ยว 4 เส้นทางแห่งความสุขจังหวัดพระเยา 48 แห่ง ได้แก่ 1.อ้อมกอดพะเยาสุขกาย แนะนำแหล่งท่องเที่ยวเจาะตลาดสายธรรมชาติ 12 แห่ง ได้แก่ ชุมชนปางปูเลาะอุทยานแห่งชาติแม่ปิม กว๊านพะเยา จุดชมวิวกว๊านพะเยา ผาหัวเรือ/บ่อสิบสอง ช่วงนกยูง 69 ช่วงนกยูงกิ่วแก้ว ช่วงนกยูอ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม ดอยหนอก ภูลังกา-ผาช้างน้อย อุทยานแห่งชาติภูซาง(น้ำตกอุ่น) อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง (น้ำตกนครสวรรค์)

2. พะเยาเสริมบุญสุขใจ เอาใจสายมู 12 แห่ง ได้แก่ วัดศรีโคมคำ วัดพระธาตุจอมทอง วัดติโลกอาราม วัดอนาลโย วัดนันตาราม อ.เชียงคำ วัดป่าพุทธชินวงศาราม อ.ภูกาบยาว วัดศรีชุม อ.ดอกคำใต้ วัดผาธรรมนิมิต วัดพระเจ้านั่งดิน อ.เชียงคำ ครูบาจันทร์วัดน้ำแป้ง อ.ปง วัดธรรมิการาม พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควร อ.ปง และทำฟ้าใต้อ.เชียงม่วน 3. “ของกิ๋นล้ำลำเมืองพะเยา” 12 แห่ง ได้แก่ กาแฟปางปูเลาะ กล้วยกรอบวัลภา ลิ้นจี่ GI แม่ใจ ปลานิลจำปาทอง ร้านอาหารประมงพื้นบ้าน(บ่นร่องไฮ) ตลาดอาหารชุมชนแม่ตำ ปลาส้มพะเยา ตลาดระเบียงสุขริมกว๊าน โคขุนดอกคำใต้ อาหารไทลื้อเชียงคำ กาละแมโบราณ อ.เชียงคำ และสวนฮอนหญ้า อ.ภูซาง

4. “วิถีสุขริมกว๊าพะเยา” เอาใจสายมู สายผจญภัย สายอาร์ต และสายกิน ครบ 12 แห่ง ได้แก่ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ สกายวอล์ควัดพระธาตุจอมทอง ล่องเรือกว๊านพะเยา ชุมชนบ้านสันแกลบนำ (ประมงพื้นบ้าน) ชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านบัว วัดอนาลโย วัดสันป่าม่วง กลุ่มหัตถกรรมบ้านสันปูลเลยและบ้านสันป่าม่วง วิสาหกิจแปรรูปปลาส้ม (แม่ทองปอน) ไร่องุ่นภูกลองฮิลล์ ร้านอาหารประมงพื้นบ้าน (บ้านร่องไฮ) อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองลานพญานาค ขณะเดียวกัน ททท.ได้จัดทำตัวอย่าง “แพกเกจท่องเที่ยวพะเยา” 3 วัน 2 คืน “ชิลล์ ฟิน แอนด์ ฟัน” ขับรถท่องเที่ยวในแต่ละวันเชื่อมโยงไปยัง 4 เส้นทางใหม่ 48 แห่ง พร้อมทั้งให้นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มสามารถดีไซน์แผนการเดินทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง

นางสาวสมฤดี กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวพะเยาเติบโตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถิติมกราคม-ธันวาคม 2566 เปรียบเทียบกับปี 2565 สามารถทำรายได้ 2,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.92 % จากคนไทย 2,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.62 % ต่างชาติ 133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.40 % จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 1,009,648 คน-ครั้งเพิ่มขึ้น 3.29 % แบ่งเป็น คนไทย 966,706 คน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2.5 % ต่างชาติ 42,942 คน เพิ่มขึ้น 25.16 %  เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิดมีต่างชาติเที่ยวพะเยา 5 อันดับแรกตามลำดับ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส อเมริกาญี่ปุ่น สปป.ลาว ทำอัตรา ตลอดปี 2566 โรงแรมที่พักในพะเยามีอัตราพักเฉลี่ย 63.65 % จากห้องพักทั้งหมด 101 แห่ง รวม 2,121 ห้อง ทำวันพักเฉลี่ยได้ 2.19 วัน/คน/ทริป

ปัจจุบันพะเยาชูแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวในฐานะเป็นเมืองน่าอยู่กำลังเร่งเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์พัฒนา 5 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนาเกษตรให้มีมูลค่าสูง 2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 3 พัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 4.ยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความมั่นคง 5.อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยมีแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์แบ่งได้ 6 ประเภท ได้แก่ 1.แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น กว๊านพะเยา ทะเลหมอกภูลังกาฝูงนกยูง อำเภอจุน มากสุด 2,000 ตัว 2.ท่องเที่ยววัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์พื้นที่ ชุมชนไทลื้อเชียงคำ ชุมชนริมกว๊าน เช่น บ้านดอกบัวโดดเด่นเรื่องการเวียนเทียนทางน้ำกลางกว๊านพะเยาหนึ่งเดียวในโลก 3.มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างหอการค้าจังหวัด 4.มีสินค้าท่องเที่ยวเชิอาการโดดเด่น เช่น ข้าวหอมมะลิพะเยา ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา โคขุนดอกคำใต้ ไก่เหลืองนุศราคัม ปลานิลจำปาทอง อาหารชุมชนไทลื้อ 5.ชัยภูมิที่ตั้งดีอยู่บนพื้นที่จุดศูนย์กลางภาคเหนือเดินทางเชื่อมโยงจากเมืองหลักได้สะดวก 6.นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวได้อย่างคุ้มค่า

ช่วง ครม.สัญจร วันที่ 18-19 มีนาคม 2567 เร่งเสนอปลดล็อกอุปสรรคและปัญหาท่องเที่ยว 5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 การท่องเที่ยวยังเป็นช่วงฤดูกาล ระหว่างพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี แล้วนักท่องเที่ยวยังจะลดลงช่วงเกิดหมอกควันกับช่วงหน้าฝน เรื่องที่ 2 สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่มักเกิดขึ้นทุกปีช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี เรื่องที่ 3 ขาดระบบขนส่งสาธารณะการเข้าถึงพื้นที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัด เรื่องที่ 4 ภาพลักษณ์เป็นเมืองท่องเที่ยวทางผ่านส่วนใหญ่คนจะแวะพักระยะสั้น ๆ เรื่องที่ 5 ขาดความต่อเนื่องด้านการจัดงานกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้นจะต้องนำเสนอรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันแก้ไขสิ่งเหล่านี้เพื่อผลักดันพะเยาเป็นเมืองท่องเที่ยวดาวรุ่งดวงใหม่ในภาคเหนือต่อไป -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน