IATA-5พันธมิตรดันโร้ดแมฟการบินโลกทำคาร์บอนศูนย์ปี93

IATA แท็กทีม 5 พันธมิตรเปิดพิมพ์เขียวโร้ดแมฟเส้นทางลดคาร์บอนการบินโลกเป็นศูนย์ภายในปี’93 แนะเลือกใช้เร่งด่วน 5 มาตรการสร้างความสำเร็จน้ำมัน SAF ตัวแปรใหญ่สุด

  • IATA ปลุกทุกวงการบินตื่นตัวใช้ทางเลือกใหม่ปลดล็อกคาร์บอนก๊าซเรือนกระจก
  • น้ำมันการบิน SAF ตัวแปรเปลี่ยนโลกลดคาร์บอนได้ 24-70%

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA/ไออาต้า : The International Air Transport Association) รายงานว่า ไออาต้าจัดทำรายงานโร้ดแมฟแผนงานลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมการบินฉบับล่าสุดร่วมกับ 5 พันธมิตรหลัก คือ ฝ่ายห้องปฏิบัติการระบบการขนส่งทางอากาศมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) กลุ่มการดำเนินการขนส่งทางอากาศ (ATAG) สภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด (ICCT) และความร่วมมือที่เป็นไปได้ของภารกิจ ( MPP) เดินหน้าเผยแพร่รายงาน Aviation Net Zero CO2 Transition Pathways Comparative นับเป็นสิ่งพิมพ์ฉบับแรกที่ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงแผนงานการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมการบินของโลกรวม 14 ฉบับ

รายงานฉบับใหม่นี้มุ่งหวังทำให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจการบินครบวงจร  สายการบิน หน่วยงานกำกับดูแลนโยบายการบิน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการบินทั้งหมด จะสามารถเข้าใจถึงความเหมือนและความแตกต่างสำคัญระหว่างแผนงานต่าง ๆ กับวิสัยทัศน์ในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมการบินภายในปี 2593 รายงานฉบับนี้จะเปรียบเทียบแผนงานโดยเลือกกติกา ขอบเขต สมมติฐานหลักป้อนเข้าระบบความต้องการพลังงานทางการบินตามแบบจำลอง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และศักยภาพที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ละมาตรการมุ่งเน้นบรรเทาผลกระทบ หรือเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับเครื่องบินใหม่ที่หันมาเลือกใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนหรือ SAF :Sustainable Aviation Fuel และการปรับปรุงการปฏิบัติงาน

สำหรับการค้นพบสำคัญจากการวิเคราะห์ ครั้งนี้ มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 จะแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับสมมติฐานหลักของผู้เขียนวิธีการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยสมมติฐานเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญไม่มากก็น้อยกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในภาพรวม  

ส่วนที่ 2 แผนงานทั้งหมดสันนิษฐานว่าเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน หรือง SAF จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากที่สุดปี 2593 โดย SAF จะมีบทบาทต่างกันไปตั้งแต่ 24-70% (สำหรับค่ากึ่งกลางของข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 53%) เปอร์เซนต์ซึ่งเป็นช่วงความกว้างต่างกันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การดำเนินงานของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการลดคาร์บอน 2.ระดับการลงทุน 3.ต้นทุนการผลิต 4.ศักยภาพในการทำกำไร 5.การเข้าถึงวัตถุดิบตั้งต้นที่จะผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน  

ส่วนที่ 3 การปรับปรุงเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการดำเนินงาน คาดตลอดแผนงานจะมีบทบาทคล้ายคลึงกันกับการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์  ซึ่งในทุกสถานการณ์เมื่อทำตามแผนงานตามข้อแนะนำในรายงานอุตสาหกรรมการบินของโลกจะร่วมกันช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ในปี 2593 ประมาณ 30% 

ส่วนที่ 4 แนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามประมาณจากเครื่องบินที่ใช้ไฮโดรเจนและแบตเตอรี่จะแตกต่างกันอย่างมาก ในแผนงานฉบับนี้ขึ้นอยู่กับการนำนโยบายส่งเสริมไฮโดรเจนมาใช้หรือไม่ และราคาพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างรวดเร็วหรือไม่ เพราะเป็นตัวแปรช่วยให้ใช้ไฟฟ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนที่ 5 เพื่อให้บรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ปี 2593 จึงได้นำแผนงานเกือบทั้งหมดมาแนะนำภาคอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการตลาดและการกำจัดคาร์บอนเพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซตกค้างปี 2593 

ถึงแม้เทคโนโลยีกำจัดคาร์บอนจะเป็นทางออกเรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงจากพลังงานสู่ของเหลว (PtL)

Marie Owens Thomsen รองประธานอาวุโสฝ่ายความยั่งยืนและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IATA กล่าวว่า การทบทวนเปรียบเทียบเส้นทางเปลี่ยนผ่านคาร์บอนตามรายงาน Aviation Net Zero CO2 แสดงให้เห็นถึงปัจจุบันมีเครื่องมือหลายตัวสามารถนำไปใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมการบินภายในปี 2593 เครื่องมือทั้งหมดเหล่านี้จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทางการบิน ซึ่งแต่ละอย่างก็ให้ผลแตกต่างกันไปตามแต่ละแผนงานด้วย

แม้แผนงานทั้งหมดจะเป็นตัวช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งใหญ่ที่สุดได้ในปี 2593 ซึ่งจะต้องพึ่งพาตัวแปรหลักคือการใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืนหรือ SAF ดังนั้นรายงานฉบับนี้พร้อมเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์แก่สายการบิน ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการวิเคราะห์และปรับปรุงนโยบาย การลงทุน และตัวเลือกทางธุรกิจ อย่างมีนัยสำคัญ

ประการสำคัญการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนหรือ SAF จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากแต่ละประเทศยกระดับเป็นนโยบายสาธารณะอย่างเข้มแข็งและเร่งด่วนเพื่อเพิ่มการผลิตปริมาณน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน หากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว แผนงานฉบับใดก็จะไม่ได้ช่วยแผนปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ทันภายในปี 2593 -เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน