“จุลพันธ์” ไม่รอช้าเข้าทำเนียบหารือนายกฯ ประเด็น “ดิจิทัล วอลเล็ต”

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

จุลพันธ์ เข้าทำเนียบหารือนายกฯ เศรษฐา โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ลั่นคลังเตรียมคำตอบชี้แจง ป.ป.ช. แม้หนังสือจะยังมาไม่ถึง

  • มั่นใจรัฐบาลจะสามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็น
  • ชี้หากติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย จะพบตัวเลขชัดเจนว่า หนักขึ้นเรื่อยๆ
  • ลั่นเรื่องอัตราดอกเบี้ย อยากให้มีความเชื่อมโยงมากขึ้น อย่าห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช. คลัง เปิดเผยก่อนเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ว่า ตนจะเข้าไปปรึกษานายกรฐมตรี เรื่องการเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต โดยได้เตรียมข้อเสนอไปหารือกับนายกรัฐมนตรีแล้วเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เตรียมคำตอบเพื่อชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเชื่อว่าทางรัฐบาลจะสามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็น แม้ว่าหนังสือข้อเสนอแนะจากป.ป.ช.จะยังส่งมาไม่ถึงก็ตาม

นอกจากนี้ ในเรื่องความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตัวเลขชัดเจนว่า หนักขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลจะพยายามเช่นไร แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมา เช่น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ยืนยันว่าตัวเลขเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในปี 2566

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีกลไกและนโยบายจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความเป็นห่วงในเรื่องนี้ และกลไกที่กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นก็มีความจำเป็น และเป็นเรื่องที่เร่งด่วน แต่ก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะให้รอบด้าน จากความเป็นห่วงในบางส่วนงาน

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อออกมา ก็ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อหดหายอาจจะอ้างได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายทางด้านพลังงานของรัฐ

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของประชาชนหดหาย และเมื่อตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนก็ไม่จับจ่าย เพราะห่วงการแก้หนี้สิน รวมถึงภาคเอกชนเองก็ชะลอการลงทุน ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ผ่านมาอยู่ที่กลุ่มบนมากที่สุด ประชาชนกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ไม่มีการขยายตัว ไม่มีรายได้เพียงพอ

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีในวันที่ 7 ก.พ.67 นี้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยเป็นภาระของประชาชน อยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้มีความเชื่อมโยงมากขึ้น อย่าห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว