ก้าวไกลเร่งดัน “กฎหมาย PRTR” เคลื่อนย้ายสารมลพิษต้องแจ้งประชาชน

พรรคก้าวไกล ลั่นถึงเวลาต้องมีกฎหมาย PRTR ปล่อย-เคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องแจ้งประชาชน หวังป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยโรงงานผลิตพลุระเบิด

  • เผยวานนี้ประชุมสภาฯ มีเสนอญัตติด่วน เรื่องเสนอแนะแนวทางป้องกัน เยียวยาอุบัติการณ์โรงงาน-โกดังเก็บพลุ
  • เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
  • ชี้ประกาศที่โรงงานพลุมีไม่มีความรัดกุมพอ ทั้งในเรื่องทำเล สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปริมาณพลุที่เก็บไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ม.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก : พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ได้ผโพสต์ข้อความกล่าวถึง กฎหมาย PRTR : ปล่อย-เคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องแจ้งประชาชน โดยมีนื้อหาระบุว่า…

[ถึงเวลาต้องมี “กฎหมาย PRTR” : ปล่อย-เคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องแจ้งประชาชน เหตุการณ์โรงงานผลิตพลุระเบิดจะไม่เกิดขึ้นอีก]

เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว หลังเกิดเหตุโรงงานผลิตพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากย้อนไปในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุโรงงานและโกดังพลุระเบิดมากกว่า 20 ครั้ง หรือโดยเฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อปี เกิดขึ้นบ่อยจนเป็นอุบัติการณ์ไปแล้ว มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งร้อย บาดเจ็บนับไม่ถ้วน วิถีชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนไป ยังไม่นับรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล

จากอุบัติการณ์ดังกล่าว เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 2567) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง เสนอแนะแนวทางป้องกัน กอบกู้ ฟื้นฟู เยียวยาอุบัติการณ์โรงงาน-โกดังเก็บพลุระเบิด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมี Saniwan Buaban – ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในผู้เสนอญัตติร่วม

น.ส.ศนิวาร อภิปรายว่า สาเหตุของปัญหาอุบัติการณ์พลุระเบิด มาจากการที่ถึงแม้โรงงานผลิตพลุส่วนใหญ่จะมีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิงตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 และได้ขออนุญาตจัดตั้งกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงมีประกาศจากหลายกระทรวงที่ครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์อาคารสถานที่ และวิธีกำกับดูแลการผลิตดอกไม้เพลิงแล้ว แต่ประกาศเหล่านั้นยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอ ทั้งในเรื่องของทำเล สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปริมาณดอกไม้เพลิงที่เก็บสะสมไว้ได้

นอกจากนี้ สถานที่ผลิตพลุยังไม่ถูกนับเป็นโรงงานตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรม แต่มีสถานะเป็นสถานที่สำหรับประกอบการทำดอกไม้ไฟเท่านั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ประเทศไทยต้องมี “กฎหมายว่าด้วยการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” (Pollutant Release and Transfer Register หรือ “PRTR”) เพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตน

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. PRTR เข้าสู่สภาฯ ตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยมีใจความสำคัญคือ สถานประกอบการ อันหมายความรวมถึง โรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายโรงงาน และกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองไม่ว่าเพื่อขาย ขนส่ง หรือใช้ประโยชน์ในประการอื่นใดก็ตาม

น.ส.ศนิวาร ย้ำว่า พ.ร.บ. นี้ไม่ได้ร่างขึ้นเพื่อควบคุมโรงงานผลิตพลุและโกดังพลุเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงโรงงานที่เก็บสารมลพิษทั้งหมด อย่างในกรณีโรงงานสารเคมีหมิงตี้ที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นเมื่อปี 2564 ด้วย

นอกจากนี้ จากความสูญเสียทั้งสมาชิกในครอบครัว ทรัพย์สิน และโอกาสต่าง ๆ แม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิต่าง ๆ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงการชดเชยด้านสิ่งปลูกสร้างส่วนการเยียวยาด้านจิตใจซึ่งมีความจำเป็น และต้องอาศัยระยะเวลายังพบเห็นไม่มากนัก ดังนั้น รัฐจึงควรจัดให้มีนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลผู้ได้รับผลกระทบ และทางที่ดีที่สุดคือการเร่งพิจารณากฎหมาย PRTR เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก