สมาร์ทโฟน เหล็ก รถยนต์ไฟฟ้า ต้นเหตุไทยขาดดุลจีน



ประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้ส่งออก” สินค้าและบริการไปสู่ตลาดโลก ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละเกือบ 10 ล้านล้านบาทเท่านั้น

แต่ยังเป็น “ผู้นำเข้า” สินค้าต่างๆ จากตลาดโลกด้วย เพราะสินค้าบางอย่าง คนไทยไม่สามารถผลิตได้ หรือแม้ผลิตได้ก็ไม่เพียงพอ หรือคุณสมบัติ คุณภาพของสินค้าไม่ตรงตามที่ต้องการ

ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบ หรือกึ่งสำเร็จรูป เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์และเหล็กกล้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ฯลฯ ที่ไทยต้องนำเข้ามาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อส่งออกและใช้ในประเทศ

ไม่เว้นกระทั่งสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่แม้คนไทยสามารถผลิตได้ และมีคุณภาพดีกว่า แต่ผู้บริโภคไทยก็ยังชอบซื้อจากบางประเทศ เช่น จีน เพราะมีราคาที่ถูกกว่าดึงดูดใจ

การนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนมากเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการไทย เดือดร้อนหนักจากการแข่งขันไม่ได้ แต่ยังทำให้ประเทศไทย “ขาดดุลการค้า” กับจีน หรือ “ขาดทุน” เพราะมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน สูงกว่ามูลค่าส่งออกสินค้าจากไทยไปจีน

ภาคเอกชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ทั้งการนำเข้าสินค้าถูก ไร้มาตรฐาน และขาดดุลการค้าจีน แต่ในฝั่งของรัฐบาล หลังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว ปัญหานี้ยังไม่ได้นำมาสานต่อแก้ไขอย่างจริงจัง!!

ไทยขาดดุลการค้าจีนหลายปีติด

สำหรับการขาดดุลการค้าจีนนั้น ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังปี 2548 ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว

โดยปี 2546 ไทยขาดดุลจีน 313 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาปี 2556 หรือ 10  ปีให้หลัง ไทยขาดดุลเพิ่มเป็น 10,494 ล้านเหรียญฯ ส่วนช่วงปี 2660-2565 การขาดดุลก็ยังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็น 14,733 ล้านเหรียญฯในปี 2560,  19,586 ล้านเหรียญฯในปี 2561 และปี 2562 เพิ่มเป็น 21,101 ล้านเหรียญฯ

แต่ปี 2563 ขาดดุลลดลงเหลือ 19,987 ล้านเหรียญฯ เพราะอยู่ช่วงโควิด การค้าขายแทบหยุดชะงัก แต่หลังจากนั้นยอดขาดดุลก็พุ่งขึ้นอีก ปี 2564 ขาดดุล 29,492 ล้านเหรียญฯ และปี 2565 ถึง 36,336 ล้านเหรียญฯ

ขณะที่ปี 2566 ขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,635 ล้านเหรียญฯ จากการค้ารวม 104,964 ล้านเหรียญฯ เป็นไทยส่งออกไปจีน 34,164 ล้านเหรียญฯ และไทยนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านเหรียญฯ

ส่วนช่วงครึ่งแรกปี 2567 ขาดดุลแล้ว 19,967 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 15.66% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 จากการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% กว่า 37,569 ล้านเหรียญฯ และทั้งปี คาดจะยังคงขาดดุลอีก

เปิดลิสต์สินค้าจีนที่ไทยนำเข้าสูงสุด

สำหรับปี  2566 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนสูงสุด 10 อันดับแรก ที่เป็นสาเหตุของการขาดดุลจีน คือ 1.โทรศัพท์มือถือ 3,309 ล้านเหรียญฯ 2.เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 2,806 ล้านเหรียญฯ

3.ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าแผ่นรีด 2,557 ล้านเหรียญฯ 4.รถยนต์ไฟฟ้า 2,536 ล้านเหรียญฯ 5. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 1,884 ล้านเหรียญฯ 6.ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า 1,851 ล้านเหรียญฯ

7.เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 1,770 ล้านเหรียญฯ 8.เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1,460 ล้านเหรียญฯ 9.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 1,246 ล้านเหรียญฯ และ 10.แผงวงจร 1,168 ล้านเหรียญฯ 

ขณะที่ปี 2567 สินค้าที่ขาดดุลกับจีน ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี และเหล็กเช่นเดิม

สาเหตุที่ทำให้ไทยและทั่วโลก นำเข้าสินค้าจีนจำนวนมาก จนขาดดุล เพราะจีนมีความสามารถในการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนต่ำ เช่น ค่าแรงต่ำ เพราะมีประชากรจำนวนมาก มีผู้ผลิตจำนวนมาก  

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ ทำให้ได้เปรียบในการกำหนดราคาส่งออก และผู้ประกอบการได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งเพื่อส่งออก และผลิตขายในประเทศ

ผลพวง FTA ทำไทยขาดดุลสูง

นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ที่ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบทางการแข่งขันแล้ว ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนได้เปรียบด้วยเช่นกัน

 ข้อมูลจาก “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า” (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ที่วิเคราะห์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2566 ภายใต้ FTA ที่มีร่วมกัน 2 ฉบับ คือ  อาเซียน-จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อปี 64

ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนการขอใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกสินค้าภายใต้ FTA ทั้ง 2 ฉบับ สูงกว่าจีน แต่จีน กลับมามูลค่าส่งออกสินค้าที่ขอใช้สิทธิ สูงกว่าไทย

โดยปี 2566 ไทยมีสัดส่วนขอใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปจีน จากการที่จีนลดหย่อนภาษี หรือไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย 60% ของมูลค่าส่งออกรวม ส่วนอีก 40% ไม่ได้ใช้สิทธิ ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกมาไทย จากการที่ไทยลดหย่อนภาษี หรือไม่เก็บภาษีกับสินค้าจากจีน 32% ของมูลค่าส่งออกรวม

ในด้านมูลค่า ปี 2566 ไทยมีมูลค่าใช้สิทธิ 20,578 ล้านเหรียญฯ ส่วนจีน 22,905 ล้านเหรียญฯ  

สินค้าที่ไทยมีมูลค่าใช้สิทธิส่งออกสูงสุด คือ “ทุเรียนสด” 4,021 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนใช้สิทธิ 100% ของมูลค่าส่งออกทุเรียนสดไปจีน คือ ถ้าส่งออกไป 100 ลูก ไทยก็ขอใช้สิทธิส่งออกทั้ง 100 ลูก

แต่สินค้าที่จีนมีมูลค่าใช้สิทธิส่งออกสูงสุด คือ “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV) 2,464 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนใช้สิทธิ 97%  ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามาไทย

จะเห็นได้ว่า แม้ FTA ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน มันสำปะหลัง

แต่จีนก็ใช้ FTA ส่งออกสินค้าที่จีนได้เปรียบมาไทยด้วย โดยเฉพาะสินค้าทุน วัตถุดิบ กึ่งสำเร็จรูป ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้ามาผลิตสินค้า เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักร รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งสมาร์ทโฟนเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ  

รัฐสุดอืด แก้ปัญหาสินค้านำเข้า

จากปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น เข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า ควบคุมสินค้าเลี่ยงภาษี สร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 

เพราะปัญหาดังกล่าว มีผลกระทบต่อภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งยังไม่นับรวมผลกระทบจากการที่แพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์จากจีน เข้ามาเปิดตลาดในไทย โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก

 ขณะเดียวกัน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน”  

เพื่อทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันถูกต้องภายใต้กฎหมายของ 2 ประเทศและกติกาสากล!!

หากรอความหวังจากรัฐบาลอย่างเดียวคงยาก เพราะแม้ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลกระตือรือร้นแก้ปัญหา โดยมี “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นแม่งานเมื่อครั้งยังนั่งเป็นรมว.พาณิชย์ ในรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”

แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” และเปลี่ยนรมว.พาณิชย์มาเป็น “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” จนถึงขณะนี้นานนับเดือนแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง

ที่สำคัญ “ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย” ที่ตั้งใจจะให้ “ปลัดกระทรวงพาณิชย์” เป็นประธาน ก็ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้น

และถึงแม้เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิชัย ได้หารือ “นายหาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาจีนประจำประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และแถลงข่าวร่วมกัน

โดยฝ่ายจีน รับจะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของไทย โดยจะนำเข้าสินค้าไทยเพิ่ม เช่น ทุเรียน และพร้อมให้ไทยเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานสินค้า รวมถึงสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าไปเปิดตลาดในจีน และสนับสนุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม

แต่ผลคงยังไม่เห็นในทันที คงรอกันยาวๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีไทยไปแล้วนั้น ไม่รู้ว่า จะรอการแก้ปัญหาไหวหรือไม่!!

กระทรวงพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อไทย ส.ค. 67 สูงขึ้น 0.35%