

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อ การศึกษา (กยศ.) เผยปีการศึกษา 67 มีนักศึกษาต้องการกู้เรียนพุ่ง 8.37 แสนราย คิดเป็นวงเงินกู้ยืม 5.12 หมื่นล้านบาท ลั่นเป็นจำนวนที่สูงที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้ง กยศ. มาเป็นเวลา 28 ปี ชี้เหตุผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นักศึกษา-ผู้ปกครอง มองการกู้ยืมเพื่อ การศึกษา จาก กยศ. ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ที่ 1%
- เผยหลังจัดทำ พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ มีผู้กู้ยืมเงินเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กว่า 168,000 ราย จากจำนวนที่ผิดนัดชำระทั้งหมด 2 ล้านราย
- ชี้ภาพรวมการรับชำระหนี้ กองทุนฯ ได้รับชำระเงินคืนแล้วจำนวน 23,359 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ก่อน 5%
- ของบประมาณ มาขับเคลื่อนกองทุนฯ ไปกว่า 9,000 ล้านบาท ถูกตัดทอนเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท ลั่นยังลุยปล่อยกู้ให้นักศึกษาได้อยู่
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมเงินในปีการศึกษา 2567 ส่งผลให้นักเรียน-นักศึกษา ผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น จากเดิม 769,009 ราย ขยายเป็นจำนวน 837,009 ราย รวมถึงพร้อมปรับวงเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น จากเดิมจำนวน 48,344 ล้านบาท เป็นจำนวน 51,278 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ในการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง
ทั้งนี้ สำหรับในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา กยศ.มีการให้กู้ยืมเงินไปราวๆ 45,700 ล้านบาท เข้าถึงนักเรียน-นักศึกษาจำนวน 751,000 ราย ซึ่งหากเทียบกับของปีการศึกษา 2567 จะพบว่า จำนวนนักเรียน-นักศึกษา ที่ขอกู้ในปีการศึกษาดังกล่าว
ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้ง กยศ. มาเป็นเวลา 28 ปี โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงนักศึกษา-ผู้ปกครอง มองว่าการกู้ยืมเงินจาก กยศ. ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ อยู่เพียงแค่ 1% มีส่วนช่วยลดภาระให้แก่ผู้ปกครองได้
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้กุ้ยืม ทางกองทุนฯ ได้ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที และให้ส่วนลดเบี้ยปรับที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% หลังจากชำระหนี้เสร็จสิ้น ซึ่งกองทุนฯ ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ก.พ. – ก.ย. 2567 โดยมีผู้กู้ยืมเงินเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 168,000 ราย
“ภายหลังจากที่ กยศ. ได้จัดทำ พ.ร.บ.กยศ. ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ได้มีผู้กู้ยืมเงินเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 168,000 ราย จากจำนวนลูกหนี้ผิดนัดชำระทั้งหมด 2 ล้านราย โดยในจำนวนลูกหนี้เหล่านี้ มีจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อใช้วิธีการลำดับการชำระหนี้ใหม่ ผลปรากฏว่า มีเงินที่ลูกหนี้จ่ายเกินมา ทาง กยศ.ต้องนำส่งคืน คิดเป็นวงเงิน 2,000 ล้านบาท” นายชัยณรงค์ กล่าว
นอกจากนี้ สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ ทางกองทุนฯ ได้รับชำระเงินคืนแล้วจำนวน 23,359 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ส.ค.67) โดยจำนวนนี้ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 5 % ซึ่งสาเหตุคาดว่า มาจากการที่ลูกหนี้ของ กยศ. ซึ่งมีภาระหนี้อยู่หลายแห่ง
จึงเลือกที่จะชำระหนี้ในก้อนที่มีภาระดอกเบี้ยสูงไปก่อน โดยในส่วนของหนี้ กยศ. ที่มีดอกเบี้ยคิดเพียง 1% จึงเป็นทางเลือกที่ลูกหนี้เก็บไว้ชำระเป็นลำดับสุดท้าย
นายชัยณรงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2568 ทาง กยศ. ได้ยื่นของบประมาณ เพื่อมาขับเคลื่อนกองทุนฯ เป็นจำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท แต่ได้ถูกตัดทอนลง เหลือเพียง 3,000 ล้านบาท
โดยทาง กยศ. ก็ยังมั่นใจว่า งบประมาณที่ได้จัดสรรมา จะยังสามารถบริหารจัดการ ให้นักเรียน-นักศึกษา ได้เข้าการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ โดยปัจจุบันยอดการกู้ยืมต่อรายเฉลี่ยอยู่ที่รายละ 120,000 บาท
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูล กยศ. ณ 31 ก.ย.67 มีจำนวนผู้กู้ยืม ตั้งแต่เริ่มให้กู้จนถึงปัจจุบันจำนวน 6.86 ล้านราย ในจำนวนตัวเลขนี้ 53% หรือราว 3.63 ล้านราย อยู่ในระหว่างการชำระหนี้ และจำนวน 18 % หรือ 1.24 ล้านราย อยู่ในช่วงปลอดการชำระหนี้ (ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาหรือยังไม่มีงานทำ) อีก 28 % หรือ 1.91 ล้านราย เป็นกลุ่มที่ชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย และ 1% หรือ 73,400 ราย เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐบาล เชิญชวนผู้กู้ยืม กยศ. เข้าร่วม “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม”