“ดร.สุวิทย์” ชี้ปากท้องเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่เพียงพอเพื่อขับเคลื่อนประเทศ

สุวิทย์ เมษิณทรีย์ นักวิชาการอิสระและอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย


“ดร.สุวิทย์” ชี้ปากท้อง เป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ ในการขับเคลื่อนประเทศ เผยมีโอกาสการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง พบส่วนใหญ่ มองอนาคตประเทศไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า อนาคตมืดมน ชู 7 หมุดหมายสำคัญ ตอบโจทย์สังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ส.ค.67) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้โพสต์ข้อความ พร้อมภาพ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก : ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr.Suvit Maesincee โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

ปากท้องเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนประเทศ ของรัฐบาลแพทองธาร

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ทั้งในภาครัฐและเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 40 ท่านเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน พบว่า เกือบทั้งหมดหรือ 92 – 94% ไม่เห็นด้วย กับคำกล่าวที่ว่า สังคมไทย เป็นสังคมที่ Clean & Clear และ Free & Fair 

ในขณะที่ 61% ไม่เห็นด้วยว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ Care & Share มีเพียง 15% ที่ค่อนข้างเห็นด้วยว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ Care & Share 

และเมื่อถึงคำถามที่สำคัญ คืออนาคตของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นไปในทิศทางใด ระหว่างอนาคตที่มืดมน กับอนาคตที่สดใส ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่  63% เห็นว่าอนาคตมืดมน หรือค่อนข้างมืดมน มีเพียง 9 % ที่เห็นว่า อนาคตค่อนข้างสดใส และอีก 23% เห็นว่า อนาคตไม่แตกต่างจากสภาพ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ภายใต้พลวัตโลก ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง วิกฤติ และภัยคุกคาม การขาดซึ่ง Clean & Clear, Free & Fair และCare & Share ในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นผลทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับอนาคตที่มืดมน ในอีก 3-5 ปี จากนี้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สังคมจะเกิด Clean & Clear ขึ้นได้ จะต้องเปลี่ยนจาก Rule by Law ใน “สังคมของพวกกู” ให้เป็น Rule of Law ใน “สังคมของพวกเรา” นั่นคือ สังคมที่ยึดนิติรัฐและนิติธรรม ให้ความสำคัญ กับมาตรฐานเชิงคุณธรรม จริยธรรมมากกว่าเพียงแค่ มาตรฐานเชิงกฎหมาย

โดยสังคมจะเกิด Free & Fair ขึ้นได้ จะต้องลดทอนผลประโยชน์ส่วนเกิน (Rent) ที่ตกอยู่กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน มาเป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิ์เข้าถึงได้ ทั้งสิทธิประโยชน์ และทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ เป็น Open Access ไม่ใช่ Limited Access เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สังคมจะเกิด Care & Share ขึ้นได้ จะต้องลดทอนการดำรงอยู่ของความเป็นชนชั้นทางสังคม  ที่มีอยู่ทั้งในเชิงโครงสร้าง หรือเชิงพฤตินัย ไปสู่การสร้างระบบที่ส่งเสริม การเลื่อนไหลของผู้คนในสังคม (Upward Social Mobility) 

เพื่อเปลี่ยนการสัมผัสได้ถึงความแปลกแยก และการกีดกัน เป็นการตระหนักรู้ การเคารพความแตกต่าง และการอยากมีส่วนร่วม เป็นการเปลี่ยน “สังคม 2 ขั้ว” ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันให้เกิดเป็นสังคมที่มีความปรองดอง สมานฉันท์อย่างแท้จริง

สัญญาประชาคมชุดใหม่ เพื่อตอบโจทย์สังคมที่ Clean & Clear, Free & Fair และ Care & Share อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบไปด้วย 7 หมุดหมายสำคัญ คือ

1. การสร้างสังคมที่ง่ายต่อการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในต้นทุนที่สมเหตุสมผล (Accessibility & Affordability) ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ สาธารณูปโภค พลังงาน ฯลฯ

2. การสร้างสังคมที่ปกป้องชีวิต และทรัพย์สิน จากภัยคุกคามในทุกรูปแบบ (Protection) ครอบคลุมอาชญากรรมยาเสพติด ผลกระทบจากภาวะโลกเดือด PM 2.5 ฯลฯ

3. การสร้างสังคมที่เคารพในสิทธิ์ และเสรีภาพของประชาชน (Freedom) อาทิ เสรีภาพในการพูด ในการแสดงความคิดเห็น ความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ

4. การสร้างสังคมที่ยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง (Governance) ครอบคลุมความโปร่งใส การป้องกันและปราบปรามทุจริต คอร์รัปชัน การถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ ฯลฯ

5. การสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม (Fairness) อาทิ การให้แต้มต่อกับผู้ด้อยโอกาส กระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม การป้องกันการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ

6. การสร้างสังคมแห่งโอกาส (Opportunity) ประกอบด้วยการส่งเสริม SMEs วิสาหกิจชุมชน การสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตลาดที่การแข่งขันเสรี ฯลฯ

7. การสร้างสังคมที่เอื้อต่อการปลดปล่อยศักยภาพของผู้คนที่หลากหลาย (Growth for People) โดยเน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต Work-Life Balance, Re-Skilling, Up-Skilling และการพัฒนาทักษะใหม่ ฯลฯ

อย่างที่ผมได้ post ไปก่อนหน้าว่า “ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับฝันเล็กๆ” ของการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้ครับ

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr.Suvit Maesincee

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ดร.สุวิทย์ แนะ นายกฯคนใหม่ ใช้ความกล้า ปลดล๊อคประเทศ 3 วาระวิกฤต