“มนพร” มอบการท่าเรือเกาะติด เรือขนตู้สารพิษ ลอบเทียบท่าเรือแหลมฉบัง

เรือสินค้า
เรือเดินสมุทร บรรทุกตู้สินค้า


“มนพร” มอบการท่าเรือ เฝ้าเกาะติด เรือขนตู้สารพิษ ลักลอบเทียบ “ท่าเรือแหลมฉบัง” พร้อมกำชับเรื่องความปลอดภัย-ความมั่นคง ยึดระเบียบและข้อกฎหมาย ด้าน กทท. สั่ง “แหลมฉบัง” ยกระดับการเฝ้าระวัง ด้านตัวแทนสายเรือยัน! เรือขนตู้สารพิษ ลำดังกล่าวไม่มีเส้นทางการเดินเรือประจำในไทย

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการระบุว่า มีเรือบรรทุกสารพิษ จำนวน 2 ลำ ขนสารพิษประเภทฝุ่นเกิดจากกระบวนการผลิตเหล็ก ด้วยเตาอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ กว่า 100 ตู้ จากประเทศอัลบาเนีย มุ่งหน้าเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 20 ส.ค.67 นั้น  ในเรื่องดังกล่าว ตนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งมอบหมายให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะกำกับดูแลท่าเรือแหลมฉบัง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว

รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อตรวจสอบ และป้องกันการลักลอบการนำสารพิษ เข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทาง  อีกทั้ง ได้กำชับให้ กทท. ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศชาติ โดยยึดระเบียบ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด

มนพร
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า การท่าเรือฯ ได้รับข้อสั่งการจากกระทรวงคมนาคม โดยติดตามเรื่องเรือบรรทุกสารพิษ ที่มีปลายทางเทียบท่าท่าเรือแหลมฉบังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร ฯลฯ เพื่อการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากตัวแทนสายเรือว่า เรือทั้ง 2 ลำ เป็นเรือในเครือของ Maersk Campton ที่จดทะเบียนในธงอังกฤษ และไม่ได้เป็นของ  Maersk แต่เป็นเรือที่ได้รับสัญญาเช่าในนาม Maersk เพื่อขนส่งสินค้า โดยไม่มีเส้นทางการเดินเรือประจำในประเทศไทย จึงไม่ได้มีกำหนดเข้าประเทศไทย รวมถึงพบว่า เรือที่เป็นข่าวลำแรก อยู่ในบริเวณทะเลฝั่งทวีปแอฟริกา และเรืออีกลำอยู่ระหว่างเดินทางไปประเทศสิงคโปร์

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้ท่าเรือแหลมฉบัง เกาะติดสถานการณ์ พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง และประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความไม่ประมาท และป้องกันการลักลอบนำสารพิษเข้ามาในประเทศไทย โดยเป็นไปตามระเบียบ การท่าเรือฯ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้าอันตรายของท่าเรือแหลมฉบัง พ.ศ.2559

โดยจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนเรือสินค้าเทียบท่า นอกจากนี้ ยังมีการประสานร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบ หากมีการนำเข้าตู้สินค้าดังกล่าว เข้ามาในประเทศ

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : การท่าเรือฯ เดินหน้าโครงการ แหลมฉบังเฟส 3 สัญญา 2