สรรพากร จับบก. ปอศ. ทลายบริษัทขายใบกำกับภาษีปลอม

สรรพากร จับบก. ปอศ. ทลายบริษัทขายใบกำกับภาษีปลอมมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ขยายผลเอาผิดทั้งแพ่งและอาญา

  • ไล่ต้อนผู้ประกอบการไทย
  • เข้าระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ E-Tax
  • ป้องกันการปลอมแปลงใบกำกับภาษี

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้ร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าตรวจค้นสถานที่ออกใบกำกับภาษีปลอม จำนวน 5 แห่ง และได้ยึดเอกสารใบกำกับภาษีที่เป็นของปลอมไว้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท จากนั้นกรมสรรพากร จะนำเอกสารดังกล่าวไปขยายผล เพื่อดำเนินคดีฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยโทษทางแพ่ง ต้องรับผิดเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมายอีกในอัตรา 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี และโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 -200,000 บาท

“การกระทำดังกล่าว เป็นการทำลายระบบภาษี ผู้ที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายจริง  มีเจตนาหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบการที่คิดจะกระทำใบกำกับภาษีปลอมให้ยุติการกระทำ และขอชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์  (e-Tax invoice & e-Receipt) เพื่อลดความเสี่ยง การถูกปลอมแปลงใบกำกับภาษี ลดความซ้ำซ้อนและลดการใช้กระดาษ ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา  เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต  ซึ่งกรมฯอยู่ระหว่างพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการยื่นแบบภาษีได้สะดวกโดยไม่มีต้นทุน”

น.ส.กุลยา กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล 700,000- 800,000 ราย และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 800,000 ราย ส่วนผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.40  ล้านราย  ซึ่งกรมสรรพากร จะพยายามให้ใช้ระบบE-Tax มากย่ิงขั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล และภาษีVAT ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบE-Tax เพียง 30% ของจำนวนทั้งหมด ขณะที่ผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นเสียภาษีรายปีผ่านE-Tax แล้ว 95%  

สำหรับเรื่องการคืนภาษีให้กับผู้เสียภาษีนั้น ส่วนใหญ่จะคืนผ่านพร้อมเพย์แล้ว แต่ที่ยังมีประเด็นคือกรณีเป็นชาวต่างชาติ ทำงานในประเทศไทยกว่า 80,000 รายนั้น  กรมสรรพากร อยู่ระหว่างหารือกับสถานบันการเงิน เพื่อหาช่องทางคืนภาษีให้ในรูปแบบที่สะดวกทั้ง2ฝ่ายป้องกันการรั่วไหลได้ด้วย 

พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า  บก.ปอศ. ได้รับคำร้องเรียนจากพลเมืองดี ว่ามีบุคคลหรือนิติบุคคลกระทำความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิออก  เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.2 บก.ปอศ. จึงได้ทำการสืบสวน โดยให้สายลับเจรจาล่อซื้อใบกำกับภาษี จากกลุ่มบุคคลดังกล่าว จำนวน 5 ครั้ง โดยมีการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิที่จะออกจำนวน 30 ใบ ต่อมาได้ไปตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งจดทะเบียนเป็นสำนักงานนิติบุคคล พบว่า ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว ได้เปิดกิจการเพื่อขายใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน จึงได้รีบดำเนินการโดยเร่งรัด