ไทยรุกหนักรักษาผลประโยชน์สินค้าเกษตร-ประมง

ทูตไทยในดับบลิวทีโอ เผย ไทยรุกเจรจาปกป้องผลประโยชน์ในความตกลงเกษตร-อุดหนุนประมง ในการประชุมรมต.การค้า WTO ครั้งที่ 13 ปลายเดือนก.พ.นี้

  • ในช่วงประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ปลายเดือนก.พ.นี้
  • เหตุสมาชิกมีนโยบายอุดหนุนทำราคาตลาดโลกผันผวน
  • ส่วนอินเดียห้ามส่งออกข้าวแต่เปิดให้ซื้อลับหลังทำไทยเสียตลาด

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ได้จัดทำร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี สำหรับเป็นกรอบที่จะใช้ประชุมรัฐมนตรีการค้าดับบลิวทีโอ ครั้งที่ 13 วันที่ 26-29 ก.พ.67 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสร็จแล้ว พร้อมกับร่างความตกลงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ ความตกลงเรื่องเกษตร และความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงภาคสอง แต่ยังต้องเจรจาในรายละเอียดต่ออีกจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งที่ 13

สำหรับไทย ให้ความสำคัญกับการเจรจาภาคเกษตรและอาหาร และการอุดหนุนประมง เป็นลำดับแรก เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญมาก โดยสินค้าเกษตรนั้น การแข่งขันในโลกมีความรุนแรงมาก เพราะประเทศต่างๆ มีนโยบายอุดหนุนและสำรองอาหารไว้มากเกินความจำเป็น อีกทั้งบางประเทศมีมาตรการห้ามส่งออก ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวนมาก

“กรณีที่อินเดีย ห้ามส่งออกข้าวบางประเภท แต่กลับเปิดให้คู่ค้ามาขอเจรจาซื้อเป็นรายๆ ไป และไม่แจ้งใช้มาตรการนี้ต่อดับบลิวทีโอ ทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าบางส่วน และไม่ชัดเจนว่า อินเดียจะยกเลิกใช้มาตรการนี้เมื่อไร แต่มีแนวโน้มที่อินเดียจะใช้วิธีการนี้มากขึ้น ไทยจึงต้องติดตามการเจรจาเรื่องเกษตรอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่น และรักษาตลาดส่งออก ผ่านการเจรจาสร้างกฎเกณฑ์พหุภาคีที่เป็นธรรมมากที่สุด”

ส่วนการเจรจาการอุดหนุนประมงระยะที่ 2 ที่เน้นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด และการให้ความยืดหยุ่นประเทศกำลังพัฒนานั้น ท่าทีของไทยในการเจรจาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการทำประมงพื้นบ้าน และยกระดับมาตรฐานและการตรวจสอบของสินค้าประมงไทยด้วย

ขณะที่ประเด็นอ่อนไหวใหม่ล่าสุดที่ไม่คาดคิดมาก่อนในขณะนี้ คือ การเจรจาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ สหรัฐฯ ประกาศทบทวนนโยบายดิจิทัล พร้อมถอนข้อเสนอและท่าทีในประเด็นการเข้าถึงข้อมูล ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ เรียกร้องให้สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการค้าดิจิทัลภายในแต่ละประเทศอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งสิทธิความเป็นเจ้าของในตัวดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เพลง ภาพยนต์ คอนเสิร์ต หนังสือ

“ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ ยังไม่มีผลกระทบต่อการประชุมครั้งที่ 13 มากนัก แต่ที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งที่ในหลายประเทศในปีนี้ ส่งผลให้แต่ละประเทศมีท่าทีที่แข็ง ไม่ยอมยืดหยุ่น เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย หรือสหภาพยุโรป ที่เกษตรกรกำลังประท้วง และสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถมีท่าทีที่ชัดเจนได้ในหลายเรื่อง เช่น การระงับข้อพิพาท พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และมีแนวโน้มจะใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ”