ธ.ก.ส. ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย

ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง 

  • แนะการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน 
  • เชื่อมโยงสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 
  • สร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่างในงานเสวนาโครงการ “การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย

ทั้งนี้เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 

โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น  

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน