ลูกจ้างรู้ยัง? สรรพากร ยกเว้นภาษี เงินค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง

กรมสรรพากร

“สรรพากร” ยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าชดเชย ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับการ ยกเว้นภาษี ถือเป็นการบรรเทาภาระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ให้ลูกจ้าง

  • เผยเพื่อให้สอดคล้อง กับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น
  • เผยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง ของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท
  • ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.67 ได้อนุมัติหลักการ การปรับปรุง การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าชดเชย ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อน จากการถูกเลิกจ้าง ให้ได้รับการบรรเทาภาระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึง ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของเงินค่าชดเชย ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าชดเชย ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง กรณีถูกเลิกจ้าง

โดยให้สอดคล้องกันกับ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กำหนดให้ค่าชดเชย ที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมาย ว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชย ที่ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง

ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง ของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มจากเดิม ที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง ของการทำงาน 300 วันสุดท้ายและไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. ให้ใช้บังคับ สำหรับเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

น.ส.กุลยา กล่าวด้วยว่า เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษี สำหรับค่าชดเชย ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว

สามารถยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษี เพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้าย แห่งกำหนดเวลายื่นแบบ แสดงรายการภาษีดังกล่าว

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสรรพากรทุกแห่ง ทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ขณะนี้ ทางสรรพากร มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาบริหารด้านภาษี โดยเร่งพัฒนาระบบ One Portal One Profile เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นระบบที่กรมสรรพากร จะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ

รวมถึงการทำระบบ 50 ทวิ ทางออนไลน์ (หนังสือรับรองเงินได้ของบุคคลที่บริษัทต่างๆออกให้)

สำหรับระบบดังกล่าวนี้ จะทำให้ผู้เสียภาษี สามารถกดปุ่ม เพียงปุ่มเดียว ก็สามารถทราบรายละเอียดเงินได้ และรายจ่ายทางภาษีต่างๆ ของตนเองทั้งหมด อีกทั้ง สามารถยื่นชำระภาษีเพิ่มเติม หรือขอคืน ได้ง่ายๆ เพียงผ่านการกดปุ่มเดียว

ทั้งนี้ สำหรับหนึ่งในแนวทาง การเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บภาษี ของกรมสรรพากร นั้น ทางกรมฯ ได้ใช้ AI เข้ามาช่วย โดยดูผู้มีรายได้รายใด ที่มีพฤติกรรม การเลี่ยงภาษี

ทางกรมสรรพากร จะรีบเข้าไปตรวจสอบ ในแบบ ที่เข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่าน ทางกรมสรรพากร ก็ได้ส่งหนังสือ ไปยังผู้มีรายได้จำนวน 500,000 ราย

เพื่อให้ผู้มีรายได้ เหล่านั้น เร่งดำเนินการ ยื่นแบบแสดงรายได้ ต่อกรมสรรพากร อย่างถูกต้อง โดยในจำนวนนี้ราว ๆ 50% ได้เข้ามายื่น แบบแสดงรายได้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กรมสรรพากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “จุลพันธ์” เยี่ยมสรรพากร สั่งเพิ่มประสิทธิภาพ จัดเก็บภาษี