นายกฯ เศรษฐา ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ลั่นอยากเห็นประเทศไทยเปล่งประกาย

“เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นปกนิตยสารไทม์ ชี้การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา คือการเดิมพันในขณะที่ไทยอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ต้องรับมือโดยตรง

  • ด้านชาร์ลี แคมป์เบลล์ ชี้เศรษฐา ลงมือทำงานอย่างจริงจัง แต่จะเยียวยาประเทศชาติได้หรือไม่
  • จับตาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กับหุ้นส่วนที่เป็นกลุ่มเดียวกับที่ขัดขวางการปฏิรูปครั้งใหญ่ผลจะเป็นอย่างไร
  • เผยนักเศรษฐศาสตร์ดัง ระบุไทยล้าหลังอย่างแท้จริงในแง่ของการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 มี.ค.67) นิตยสารไทม์ (TIME) ได้ขึ้นปกนิตยสารด้วยภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ของประเทศไทย อีกทั้งนิตยสารไทม์ ยังได้เปิดบทสัมภาษณ์นายเศรษฐา ไว้ได้อย่างน่าสนใจโดยชาร์ลี แคมป์เบลล์ ได้รับหน้าที่เข้าสัมภาษณ์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ได้มีการโปรยว่า นายกฯเศรษฐา เขากำลังลงมือทำงานอย่างจริงจัง แต่จะสามารถเยียวยาประเทศชาติของเขาได้หรือไม่

Thailand’s New Prime Minister Is Getting Down to Business. But Can He Heal His Nation?

โดยนิตยสารไทม์ อ้างถึงนายกรัฐมนตรีของไทยว่า เป็นอดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ในวัย 62 ปี ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน และเดินทางไปต่างประเทศมากกว่า 10 ครั้ง เพื่อโน้มน้าวนักลงทุน รวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และการประชุม “เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum) ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ แคมป์เบลล์ ยังบรรยายสภาพภายในห้องประชุมเล็กๆ ที่นายกฯ เศรษฐา นั่งคุยกับเขาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง รายล้อมไปด้วยกระดานไวท์บอร์ด ที่เขานั่งคุยกับ TIME ที่เขียนนโยบายไว้ เช่น ดิจิทัล วอลเลต (digital wallets), ศูนย์กลางการบินแห่งชาติ, เหมืองแร่โปแตช, Tesla, การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบเป็นรายปี เฉพาะเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว ได้มีการลงทุนในประเทศไทยโดยAmazon Web Services, Google และ Microsoft มูลค่ารวม 8,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเขาบอกว่า “ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกลับมาเปิดรับธุรกิจอีกครั้ง”

ไทม์ ระบุว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศที่เป็น “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” (Land of Smiles) แห่งนี้ ต้องเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอันขมขื่น ซึ่งทำให้กองทัพเข้ายึดอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรับประกันบทบาทการชี้นำโดยกองทัพ แต่ภายใต้ทศวรรษของการปกครองกึ่งทหารที่สับสนวุ่นวาย เศรษฐกิจของไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ซบเซาในขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้น

โดยในปี 2561 คนที่รวยที่สุดเพียง 1% ของประเทศ ควบคุมความมั่งคั่งได้ 66.9% (ตามข้อมูลของ Credit Suisse Global Wealth Databook) คนหนุ่มสาวหลายพันคน ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้กองทัพหยุดก้าวก่ายกระบวนการประชาธิปไตย โดยชูสามนิ้วที่เป็นสัญลักษณ์จากภาพยนตร์ Hunger Games เป็นสัญญาณแห่งความไม่พอใจทั้งสุญญากาศทางประชาธิปไตยและความผิดพลาดทางการคลัง

การเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยของประเทศไทย ที่มีประชากร 70 ล้านคน ต่ำกว่า 2% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เติบโตกว่าเป็น 2 หรือ 3 เท่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ทำลายล้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีเพียง 70% ของจุดสูงสุดเมื่อปี 2562 ซึ่ง แกเร็ธ ลีทเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคจาก “Capital Economics” ระบุว่า ประเทศไทยล้าหลังอย่างแท้จริงในแง่ของการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ แย่กว่าที่อื่นในเอเชียเอามากๆ

ในการรับตำแหน่งนายรัฐมนตรีของนายเศรษฐา คือการเดิมพันในขณะที่ประเทศไทยอยู่ใน “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่ต้องรับมือโดยตรง โดยได้ลดภาษีเชื้อเพลิง ประกาศพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหา และวางแผนที่จะเปิดตัวโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะมอบเงิน 10,000 บาท ให้แก่คนไทยวัยผู้ใหญ่ทุกคน เพื่อกระตุ้นการบริโภค ยกเว้นวีซ่าสำหรับผู้มาเยือนจากจีนและอินเดีย โดยมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศนอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว เขายังต้องการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ และการเงิน

นอกจากนี้ เขายังเตรียมที่จะยกระดับชื่อเสียงของประเทศไทยในเวทีโลก โดยต้อนรับเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนในเดือนมกราคม สำหรับการหารือที่ละเอียดอ่อนระหว่างคู่แข่งมหาอำนาจ

เขาหวังว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกาในเอเชียที่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งกับจีน จะสามารถทำหน้าที่เป็นสะพาน และพื้นที่ปลอดภัย เพื่อยกระดับชื่อเสียงของไทยในระดับนานาชาติ โดยบอกว่า “ผมอยากเห็นประเทศไทยเปล่งประกาย”

ทั้งนี้ ไทม์ ระบุด้วยว่า มีสิ่งที่ขัดแย้งกันก็คือ นายเศรษฐากำลังต่อสู้เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการร่วมมือกับหุ้นส่วนที่เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ขัดขวางการปฏิรูปครั้งใหญ่ และเมื่อพิจารณาจากภาวะย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยและเส้นทางสู่อำนาจที่ขัดแย้งกันของเขา เขาจึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักที่จะต้องสร้างผลลัพธ์ ที่แท้จริงและรวดเร็วเหมือนที่เขาพูดไว้เมื่อตอนหาเสียงว่า “แรงกดดันมาจากความจำเป็นในการแก้ความยากจน เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกคน นั่นคือความกดดันที่ผมเผชิญอยู่ทุกวันนี้”

ขอบคุณข้อมูล : https://time.com/6899782/thailand-prime-minister-srettha-thavisin-business-hub/?utm_source=twitter&utm_medium=social&utm_campaign=editorial&utm_term=world_asia&linkId=357013854