รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” มอบ เลขาฯ “อารี” คลายกังวลผู้พิการ ยันได้รับสิทธิ

กระทรวงแรงงาน หารือมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อผู้พิการ ยันผู้พิการได้รับสิทธิภายในกำหนด พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ยกระดับการให้บริการ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมด้วย นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ให้การต้อนรับ นายปรีดา ลิ้มนนทกุลกรรมการและเลขานุการมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ และคณะ 

กรณีเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ขอให้ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 9 กรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจทำให้คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการถูกละเมิดสิทธิในการขอรับการส่งเสริมอาชีพ ณบริเวณโถงด้านล่าง อาคารกระทรวงแรงงานและห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน

นายอารี กล่าวว่า นายพิพัฒน์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการให้โอกาสคนพิการได้มีงานทำในเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ ที่ไหนไม่มีการจ้างงานคนพิการขอเพิ่มให้มีตามกฎหมาย ซึ่งวันนี้ต้องขอบคุณมูลนิธิปัญพัฒน์ เพื่อคนพิการที่เป็นตัวเชื่อม เป็นตัวกลาง ในการประสานให้คนพิการได้มีงานทำ ซึ่งหากไม่มีท่านกระทรวงแรงงานก็ทำงานลำบาก ในส่วนของหนังสือที่ยื่นไว้นั้น กระทรวงแรงงานได้ให้กรมการจัดหางานตรวจสอบตามข้อร้องเรียนดังกล่าว จากการสอบถามผู้ประสานงานของบริษัทผู้ให้ความช่วยเหลือในการให้สิทธิผู้พิการตามมาตรา 35 ซึ่งเป็นผู้ให้สิทธิผู้พิการทั้ง 11 ราย ยืนยันว่ามิได้ต้องการยกเลิกการให้สิทธิผู้พิการแต่อย่างใด และทราบเป็นอย่างดีว่ากระบวนการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสิทธิผู้พิการ ตลอดจนการอนุมัติ มีกำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายในไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี 

ในส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กรมการจัดหางานมีแนวปฏิบัติเรื่องการขอใช้สิทธิ มาตรา 35 อย่างชัดเจน รวมทั้งระบุเอกสารที่ต้องใช้เพื่อดำเนินการครบถ้วน โดยประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้ปฏิบัติตามขั้นตอน และเรียกเอกสารเท่าที่จำเป็นตามที่ระบุไว้ใน “แบบคำขอการให้ความช่วยเหลืออื่นใด” (กกจ.พก. 2-7) อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กรมการจัดหางานพิจารณาลดขั้นตอน ลดการขอเอกสาร เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด และวางแนวทางเพื่อลดการใช้ดุลพินิจส่วนตัวในการแก้ไขหรือเรียกรับเอกสารเพิ่มเติม

“กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเฉพาะการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัวให้ดีขึ้น วันนี้ผมรับรู้ถึงความกังวลของผู้พิการทุกท่าน และขอยืนยันว่าทุกท่านจะได้รับสิทธิแน่นอน” นายอารี กล่าว

ด้าน นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นายจ้าง สถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับผู้พิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงาน ในอัตราส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อผู้พิการ 1 คน ซึ่งหากไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ หรือส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถเลือกให้สิทธิตามมาตรา 35 แทนได้ โดยมูลค่าของสัญญาต้องไม่น้อยว่า 119,720 บาทต่อปี ซึ่งกระบวนการให้สิทธิ – รับสิทธิ ผู้พิการตามมาตรา 35 มีกำหนดยื่นความประสงค์ให้สิทธิภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ณ สำนักงานจัดหางานท้องที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ 

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสาร และทำหนังสือส่งถึงสำนักงานจัดหางานจังหวัด ในพื้นที่ที่ผู้พิการขอรับสิทธิ เพื่อตรวจสอบสิทธิให้ผู้พิการ หากถูกต้องจะยืนยันการให้สิทธิ เพื่อพิจารณาอนุมัติสิทธิและแจ้งต่อสถานประกอบการ ภายในไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งรายละเอียดที่ต้องแก้ไขแก่ผู้ประสานงานบริษัทเรียบร้อย โดยผู้ประสานของบริษัทผู้ให้สิทธิพร้อมจะดำเนินการตามที่ได้รับแจ้ง ซึ่งคาดว่าสามารถ อนุมัติได้ภายในวันที่ 1 มี.ค. 2567