คมนาคมใส่เกียร์ 5 เร่งสร้าง รถไฟไฮสปีด “ไทย-จีน” สัญญาที่ 4-5



คมนาคม ใส่เกียร์ลุย! เร่งสร้าง รถไฟไฮสปีด “ไทย-จีน” สัญญาที่ 4-5 หลังคลี่คลายปัญหา สถานีอยุธยา ย้ำไม่ย้ายแนวเส้นทาง เดินหน้าก่อสร้าง รถไฟไฮสปีด สถานีอยุธยา แน่นอน ลั่นได้ปรับเปลี่ยนทำทุกอย่าง ตามที่ยูเนสโก สอบถามมาเรียบร้อย

  • พร้อมเตรียมชงเรื่อง เข้า ครม.ชุดใหม่ พิจารณาทันที หลังรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จ
  • วางเป้า ต.ค.นี้ ได้เซ็นสัญญาแน่ มั่นใจสร้างเสร็จปี 71
  • สั่ง รฟท. เชิญผู้รับงานแต่ละสัญญา มาพูดคุย เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคว่า มีเรื่องใด ที่ต้องการให้ภาครัฐ ช่วยหรือไม่

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว กระทรวงคมนาคม พร้อมเดินหน้าเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้พิจารณาอนุมัติเห็นชอบ ในการดำเนินการในโครงการ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 10,326 ล้านบาท

ซึ่งตามขั้นตอน ภายหลังจากที่ ครม. เห็นชอบ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็จะดำเนินการลงนามในสัญญา กับผู้รับงาน คือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในเครือ บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชน ที่เข้ามาดำเนินการได้ทันที

ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีความล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว เนื่องจากติดประเด็นงานก่อสร้างสถานีอยุธยา ที่หลายฝ่ายเกรงว่า อาจส่งผลกระทบมรดกโลก แต่ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม มีความชัดเจนแล้วว่า จะเดินหน้าสัญญา 4-5 แน่นอน โดยมิต้องรอความเห็นเพิ่มเติม จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

เนื่องด้วย เพราะปัจจุบันกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ ของยูเนสโก อย่างครบถ้วนแล้ว ทั้งการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ ต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment :HIA) และการปรับแบบสถานีอยุธา จากเดิมมีความสูง 19 เมตร ให้เหลือ 17 เมตร

ขณะเดียวกัน ทาง รฟท.ยังได้ทำการสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง อย่างรอบคอบแล้วว่า มิได้อยู่ในเขต ที่จะกระทบต่อโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกโลก แต่อยู่ในเขตทางรถไฟ และหากมีการย้ายแนวเส้นทาง จะทำให้โครงการ มีความล่าช้าออกไปอีก 10 ปี ซึ่งไม่คุ้มค่า

ดังนั้น รฟท.จะดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 4-5 ตามแนวเส้นทางเดิม และจะมีการก่อสร้างสถานีอยุธยาแน่นอน เพียงแต่ลดความสูงลง เพื่อลดความกังวลของยูเนสโก

“งานก่อสร้างสัญญานี้ ทางยูเนสโกได้ส่งหนังสือสอบถามมาที่ไทย 2-3 ปีก่อนแล้ว โดยแสดงความกังวลว่า การก่อสร้างจะกระทบต่อมรดกโลก แต่ไม่มีใครตอบกลับไปยังยูเนสโก ถ้าตอบกลับไปตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงจบประเด็นนี้ไปแล้ว

ซึ่งขณะนี้เราได้ทำทุกอย่าง ตามที่ยูเนสโกสอบถามมาแล้ว ทั้งการศึกษา HIA และส่งไปที่ยูเนสโก การตอบคำถามต่างๆ การลดความสูงสถานีลง คือทำครบถ้วนหมดแล้ว จึงไม่มีอะไรต้องรอต่อไป หลังรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จกระทรวงคมนาคม จะเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขอเซ็นสัญญา และคาดว่า จะได้เซ็นสัญญากับผู้รับงานในเดือน ต.ค.นี้” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ซึ่งมีทั้งหมด 14 สัญญานั้น ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไขหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องการขาดสภาพคล่องของผู้รับงาน ล่าสุดจึงได้สั่งการ รฟท.ว่าให้เชิญผู้รับงานแต่ละสัญญา มาพูดคุย

เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคว่า มีเรื่องใดบ้าง และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้การทำงานมีความราบรื่น โดยงานเฟสที่ 1 นั้นมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2571 หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน -1 ปี ก็จะเปิดเดินรถได้

กระทรวงคมนาคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ”สุรพงษ์“ ดันเต็มสูบสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส 2