พาณิชย์เร่งรับมือเหตุโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง

พาณิชย์เร่งรับมือเหตุโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง คาดเบื้องต้นยังไม่กระทบกับส่งออกสินค้าไทย หวังเหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อ

  • แต่ผู้ส่งออกต้นทุนพุ่งจากค่าธรรมเนียม-ค่าระวางพุ่ง
  • สัปดาห์หน้าถกสายเดินเรือขึ้นราคาให้เหมาะสม
  • สรท.สายเดินเรือปรับขึ้นค่าธรรมเนียม และค่าระวางเรือแล้วกว่า 1 เท่าตัว 
  • จากเดิม 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์ มาอยู่ที่ 3,000-4,000 เหรียญฯ

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน และทูตพาณิชย์ไทยในตะวันออกกลางและยุโรป เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบการส่งออกสินค้าไทย กรณีกองทัพฮูติของเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าต่างชาติในทะเลแดง ที่มุ่งสู่ท่าเรือของประเทศอิสราเอล และเดินเรือผ่านช่องแคบ Bab al-Mandab ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทะเลแดง และทะเลเอเดน ซึ่งทั้งทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำในซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ เยอรมนี อิตาลี รวมถึงภาคเอกชน เห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ไม่น่ายืดเยื้อ เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ โดยถ้าจบเร็ว จะไม่กระทบการส่งออกภาพรวมของไทยในปี 66 แน่นอน 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ขณะนี้ ค่าระวางเรือได้ปรับขึ้นไปแล้ว และมีการเปลี่ยนเส้นทาง โดยยกเลิกการเดินเรือผ่านคลองสุเอซและทะเลแดง และปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา อีกทั้งสายเดินเรือยังประกาศยกเลิกการรับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือ Sokhna และท่าเรือ Jeddah รวมถึงท่าเรือในทะเลแดงเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันความเสี่ยงภัยต่อเรือและลูกเรือ ส่งผลให้ระยะเวลาการเดินเรือในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรป เพิ่มขึ้น 10-15 วัน 

นอกจากนี้ ยังคาดว่าสายเรือจะเพิ่มจำนวนเรือเข้ามาให้บริการเพิ่มเติมในเส้นทาง เพื่อรักษาความถี่ในการเดินเรือไม่ให้น้อยลงจากเดิม ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ค่าระวางการขนส่งสินค้าในเส้นทางระหว่าง ตะวันออกไกล–ตะวันออกกลาง–เมดิเตอร์เรเนียน–ยุโรป มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

“เราหวังว่า เหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อ และไม่กระทบการส่งออก และผู้ส่งออกไทยมากนัก มีแค่ผลกระทบจากการระยะเวลาขนส่งที่เพิ่มขึ้น และค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น แต่สัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์ จะเชิญสายเดินเรือมาหารือ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อ และจะต้องขึ้นค่าระวางเรือเพิ่ม ก็ขอให้ขึ้นอย่าง ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินจริง ซึ่งกระทรวงจะใช้มาตรการบริหารจัดการก่อน ยังไม่ใช่กฎหมายเข้ามาดูแล”

ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) รับจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก เพราะหากการขนส่งสินค้าล่าช้า จะทำให้ต้นทุนต่างๆ ของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น และอาจขาดกระแสเงินสดได้

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ที่มีการโจมตีเรือขนส่งสินค้า สายเดินเรือได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม และค่าระวางเรือแล้วกว่า 1 เท่าตัว จากเดิม 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐฯ/ตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต มาอยู่ที่ 3,000-4,000 เหรียญฯ ซึ่งถือเป็นภาระของผู้ส่งออก เพราะในการขายสินค้า ได้คิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว แต่พอมาเกิดการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ส่งออกต้องรับภาระส่วนนี้ไว้เอง แม้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 7-10 เท่า แต่ก็ถือว่า เป็นการเพิ่มขึ้นมากภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ และหวังว่า สายเดินเรือไม่น่าจะขึ้นราคาอีก

“ผู้ส่งออกคงต้องเร่งหารือกับสายเดินเรือในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มกรณีที่สินค้าอยู่ระหว่างการขนส่งก่อนการโจมตี เพื่อหาจุดสมดุล รวมถึงเรื่อง free time ในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ จากระยะเวลาขนส่งที่เพิ่มขึ้น และการหมุนเวียนของตู้คอนเทนเนอร์ ที่จะต้องมีเพียงพอ แต่คาดว่า เหตุการณ์นี้ ถ้าจบเร็ว จะไม่กระทบการส่งออกภาพรวมของไทยในปี 66 แต่ถ้ายืดเยื้อเกินสัปดาห์หน้า ก็อาจกระทบการส่งออกเดือน ม.ค.67”

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้หารือกันเรื่องนี้ พบว่ายังไม่มีข้อกังวลรุนแรง แค่ห่วงว่า เหตุการณ์จะยืดเยื้อบานปลาย แต่ก็หวังว่า จะไม่ยืดเยื้อเกิน 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกเส้นทางตะวันออกกลาง และยุโรป อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะค่าระวางเรือและค่าประกันภัยขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนเส้นทางอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน อาจยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเรือไม่ได้ผ่านทะเลแดง