อดีตรองนายกฯ-รมว.-ปลัดพลังงาน ส่งหนังสือถึงนายกฯ แสดงความห่วงใยด้านพลังงาน

“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-คุรุจิต” รวมตัวแถลงข่าวยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยถึงนโยบายพลังงานที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ หวั่นตกทอดเป็นภาระนำเงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนมาใช้

  • เผยล่าสุดหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นเป็น 8.4 หมื่นล้าน เหตุเพราะ ก.พลังงานได้กดราคาดีเซลลงจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 30 บาท และลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินลง
  • ถามการลดราคาน้ำมันทุกชนิดให้ดูเป็นนโยบายที่ขัดกับเรื่องการดูแลคุณภาพอากาศ และพลังงานสะอาด ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้ตั้งใจที่จะลดปัญหาควันพิษ ส่งเสริมการใช้รถEV จริงหรือไม่
  • เชื่อรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้ประชาชนได้ใช้น้ำมัน-ก๊าซ LPG -ไฟฟ้า ในราคาถูก แต่การดำเนินนโยบายเช่นนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 มี.ค.67) หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าว แสดงความห่วงใยถึงนโยบายพลังงานในหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยได้ยื่นเป็นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาล โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

พวกกระผมที่มีรายนามปรากฏท้ายหนังสือนี้ มีความเป็นห่วงในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง อันเนื่องมาจากนโยบายพลังงานในหลายๆเรื่องที่รัฐบาลของฯพณฯกำลัง ขับเคลื่อนอยู่ จึงใคร่ขอเรียนให้ทราบถึงความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1. เมื่อรัฐบาลปัจจุบันเริ่มเข้าบริหารงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สินจำนวน 48,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลให้หนี้สินจำนวนนี้ลดลงไป หรืออย่างน้อยก็ไม่เพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่า เพียงแค่ 5 เดือน ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 หนี้สินกองทุนน้ำมันฯได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็น 84,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพราะกระทรวงพลังงานได้กดราคาน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 30 บาท และได้ลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลงอีกลิตรละ 2.50 บาท อันเป็นผล ให้กองทุนฯ ต้องชดเชยราคาสำหรับน้ำมันดีเซลและลดการเก็บเงินเข้ากองทุนฯจากน้ำมันกลุ่มเบนซินและ แก๊สโซฮอล์ รวมถึงตรึงราคา LPG ไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

หากปล่อยไปเช่นนี้ หนี้ของกองทุนน้ำมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจนถึงเพดานหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ขณะนี้ คือ 110,000 ล้านบาท แต่เมื่อหนี้ของกองทุนฯ ในเวลาอีกไม่นานนัก การลดราคาน้ำมันลงเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของรถก็จริง เพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งที่เกินความสามารถที่จะชำระคืนรัฐบาลก็คงต้องนำเงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งประเทศไปล้างหนี้ดังกล่าว ซึ่งเท่ากับว่าในส่วนของราคาน้ำมัน ประชาชนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ ต้องมา ช่วยแบกภาระหนี้แทนเจ้าของรถที่มีฐานะดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลที่ดีพึงระวังไม่ให้เกิดขึ้น ในช่วงนี้ที่น้ำมันในตลาดโลกราคายังมิได้ผันผวนถึงขั้นวิกฤติ คือค่อนข้างนิ่งและมีแนวโน้มลดลง มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน จึงควรเรียกเก็บเงินเข้าเพื่อมาคืนสภาพคล่องและลดหนี้ให้แก่กองทุนฯ

2. ในรัฐบาลที่แล้ว เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างมากอันเนื่องมาจากภาวะสงครามในยุโรป รัฐบาลก่อนได้ชะลอการปรับค่าไฟฟ้า Ft ไว้เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าที่จะเก็บจากประชาชนเพิ่มขึ้นในจำนวนสูงเกินไป โดยให้ กฟผ.รับภาระราคาก๊าซ LNG ที่เพิ่มสูงขึ้นไว้ก่อน แล้วจึงจะค่อยทยอยผ่อนคืน กฟผ. โดยการขึ้นค่า Ft ทีละนิดในงวดถัดๆ ไป ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2556 หนี้ค่า Ft ที่ กฟผ.แบกรับไว้มียอดค้างอยู่ 110,000 ล้านบาท พอรัฐบาลชุดใหม่รับงาน เป็นจังหวะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องอนุมัติปรับค่า ไฟฟ้า ซึ่งตั้งใจจะปรับลดจากงวดก่อนจากหน่วยละ 4.70 บาท เป็นหน่วยละ 4.45 บาท (ในงวดเดือน ก.ย. ธ.ค.2566) เพื่อให้พอมีเงินเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ที่ กฟผ.แบกรับไว้ลงบ้าง ปรากฏว่ารัฐบาลใหม่กลับประกาศกดราคาค่าไฟฟ้าลงไปอีกเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ซึ่งมีผลให้ กฟผ.ต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นอีกคือเพิ่มสูงขึ้นเป็น 137,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 หากปล่อยไปเช่นนี้ ในที่สุดก็คง จะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้จำนวนนี้ให้ กฟผ.เพื่อให้ กฟผ.ดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐบาลที่ดีย่อมจะต้องตระหนักว่ามีภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลไม่ให้มีการหมักหมมปัญหา และ หมกหนี้ไว้ที่หน่วยงานของรัฐ และตั้งใจหามาตรการที่จะทยอยลดหนี้ได้ตั้งแต่ที่ปัญหายังไม่หนักเกินไป ก็จะสามารถสะสางปัญหาให้จบลงด้วยดีได้โดยไม่ต้องรบกวนภาษีของประชาชน

3. รัฐบาลไทยในอดีตได้ออกนโยบายที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมในอากาศ คือวางแผนให้มีการผลิต น้ำมันคุณภาพสูงขึ้นเป็นมาตรฐาน Euro 5 โดยได้มีการขอความร่วมมือและจูงใจให้โรงกลั่นในประเทศ ทั้ง 6 โรง ลงทุนก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ปรับกระบวนการผลิตให้ได้น้ำมันคุณภาพ Euro 5 ซึ่งใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท พร้อมกันนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ดำเนินการออกมาตรฐานรถยนต์ใหม่ให้รองรับคุณภาพน้ำมันใหม่ และกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการออกมาตรฐาน บังคับใช้คุณภาพน้ำมันที่ลดกำมะถันลงให้เหลือไม่เกิน 10 ppm กับลดค่า NOx และฝุ่น PM ลงให้ไม่เกิน 8% ภายใน 5 ปี โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 โดยเป็นที่เข้าใจกันว่า กระทรวงพลังงานจะปรับสูตรสำหรับคิดราคาน้ำมันอ้างอิงที่หน้าโรงกลั่นให้สะท้อนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตน้ำมันที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นระดับ Euros ปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ ทั้งๆ ที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศให้ใช้น้ำมันระดับ Euro 5 แล้ว กระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลใหม่ยังนิ่งเฉย แสดงท่าทีไม่ยอมรับคุณภาพน้ำมันสะอาดใหม่นี้ โดยไม่พิจารณาปรับราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นของเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล

จนภาคเอกชนคือสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องออกมาเรียกร้องขอให้ปรับสูตรราคาอ้างอิงดังกล่าว หากรัฐบาลเพิกเฉยไม่ทำอันใด ในที่สุดผู้ค้าน้ำมัน ก็คงจะไม่ยอมรับในราคาอ้างอิงในแบบเดิมๆ ที่รัฐกำหนด และเลือกใช้วิธีกำหนดราคาขายหน้าปั๊มเอง ซึ่งอาจมีผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่า และโรงกลั่นก็จะไม่ยอมลงทุนอะไรไปก่อนอีกตามที่รัฐขอความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้ นโยบายของรัฐในสายตาของนักลงทุนก็จะขาดความน่าเชื่อถือและเสื่อมถอยลงด้วย

4. คุณภาพอากาศกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ปัญหาของฝุ่นควันในต่างจังหวัดเกิดจากการเผาไร่และเผาป่าเป็นสาเหตุใหญ่  ในขณะที่สาเหตุหลักของฝุ่นควันในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็คือควันพิษจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ใช้น้ำมันดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์  รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันมีนโยบายที่จะกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าสาธารณะหรือใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นพาหนะส่วนตัว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาควันพิษในอากาศลงบ้าง แต่การลดราคาน้ำมันทุกชนิดให้ต่ำลง ย่อมเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างฟุ่มเฟือย และก่อให้เกิดควันพิษมากขึ้น ดูเป็นนโยบายที่ขัด หรือย้อนแย้งกับเรื่องการดูแลคุณภาพอากาศและพลังงานสะอาดอย่างชัดเจน ทำให้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะลดปัญหาควันพิษในอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน กับจะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จริงหรือไม่?

5. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับ ก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas แต่อย่างใด กล่าวคือกระทรวงพลังงานปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบ ไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผ ต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจเพียงกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติ ก็แต่เฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นพลังงานเท่านั้น มิได้มีอำนาจกำหนดราคาก๊าซที่ใช้เป็นวัตถุดิบ นโยบายที่มอบให้ กกพ.นี้ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประเทศไทยใช้เวลามากกว่า 30 ปี ในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอาทิ พลาสติก สิ่งทอ และอะไหล่รถยนต์ หลายพันกิจการ ก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมระดับโลกขึ้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และความโชติช่วงชัชวาลขึ้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และช่วยทำให้ GDP และการส่งออกของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในปี 2564 เฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มแปรรูปพลาสติก มียอดขายรวมถึง 1,720,000 ล้านบาท หรือ 10.7% ของรายได้ประชาชาติของไทย มีการจ้างงานรวมกว่า 400,000 คน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากทันทีเพราะการกำหนดสูตรราคาก๊าซใหม่นี้ จะกระทบอย่างรุนแรงต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างแน่นอน หากปล่อยไว้นานเกินไปจะกระทบถึงฐานะของกิจการจนต้องทยอยปิดลง กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้าง

ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดผลเสียในลักษณะดังกล่าว และยังไม่สายเกินไปที่จะ แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยการกลับไปใช้สูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่เดิม

พวกกระผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้ผู้บริโภคได้ใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม LPG และไฟฟ้า ที่ราคาถูก แต่ในการดำเนินนโยบายเพื่อความตั้งใจดีนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย

พวกกระผมเห็นว่าผลเสียที่กำลังเกิดขึ้นใหญ่หลวงทีเดียว และจะขยายตัวอย่างรวดเร็วกับก่อ ผลกระทบในวงกว้าง จึงได้เขียนหนังสือถึง ฯพณฯ ด้วยเห็นว่า ฯพณฯ เป็นคนเดียวที่สามารถบันดาลให้มีการปรับแก้นโยบายของกระทรวงพลังงานทุกเรื่องที่กล่าวถึงนั้นได้ ฯพณฯ ที่มุมานะพยายามทำงานให้ประเทศชาติอย่างเต็มกำลัง และหยุดยั้งความเสียหายต่อประเทศชาติ ในครั้งนี้ได้

ขอแสดงความนับถือ

 (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) อดีตรองนายกรัฐมนตรี

(นายณรงค์ชัย  อัครเศรณี) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

(นายคุรุจิต นาครทรรพ) อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน