ไปกันต่อ.. มาตรการอุดหนุนรถ EV สรรพสามิต จ่อขออีก 7 พันล้าน

มาตรการอุดหนุนรถ EV
สรรพสามิต จ่อชง ครม. ของบอีก 7,000 ล้านบาท อุดหนุน มาตรการอุดหนุนรถ EV อีก 35,000 คัน


สรรพสามิต ลุยต่อเนื่อง จ่อชง ครม. ของบอีก 7,000 ล้านบาท อุดหนุน มาตรการอุดหนุนรถ EV อีก 35,000 คัน วางเป้าหมายในปี 73 ต้องมีรถไฟฟ้า 30% ของฐานการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไทย เชื่อ มาตรการอุดหนุนรถ EV จะทำไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีในอนาคต

  • เผยตอนนี้ มีหลายบริษัทเริ่มเปิดโรงงานผลิตรถอีวีในไทย เข้ามาลงทุนแล้วมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท
  • ตั้งเป้าในปี 69 ต้องมีการผลิตหรือประกอบแบตเตอรี่ในไทย ตอนนี้มีเงินลงทุนแล้ว 2.5 หมื่นล้าน
  • ลั่นแม้รายได้จัดเก็บภาษีรถอีวีจะลดลง จากมาตรการที่ทำ แต่แลกกับไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวี ถือว่าคุ้มค่า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสรรพสามิตได้ของบประมาณเพื่อจ่ายอุดหนุน การดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ โดยเป็นการใช้งบประมาณกลาง อุดหนุนรถอีวีจำนวน 35,000 คัน

โดยตอนนี้อยู่ระหว่างรอเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทางกรมฯ ได้จ่ายเงินอุดหนุนรอบแรกไปแล้ว 7,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นจำนวนรถอีวี 40,000 คัน ซึ่งรวมแล้วใช้เงินอุดหนุนรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทางรัฐบาลวางเป้าหมายว่า ในปี 2573 ต้องมีรถไฟฟ้า 30% ของฐานการผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยรัฐบาลอยากให้ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มาอยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกันกับฐานการผลิตรถยนต์สันดาป โดยกรมสรรพสามิต จึงได้ออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV 3.0) และมาตรการ EV 3.5 ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรการ EV 3.0 ที่ดำเนินการไปเมื่อช่วงปี 2565-2566 เริ่มเห็นทิศทางที่เปลี่ยนไปชัดเจน โดยกรมฯ ได้ลดอัตราภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% และรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้ คันละ 150,000 บาท

โดยแลกเงื่อนไขที่จะต้องผลิตรถยนต์ชดเชยจากในประเทศไทย โดยในช่วงแรก อนุญาตให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าอีวีมาได้ ซึ่งปัจจุบันมี 23 บริษัท ที่เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่ ในปี 2568 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องดำเนินการผลิตชดเชย ตามเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ โดยขณะนี้ เริ่มเห็นการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีวีในไทยแล้ว ปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาลงทุนแล้วเป็นมูลค่า 40,000 ล้านบาท

“ตามเงื่อนไขการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชดเชย รถที่นำเข้ามา ในปี 2565-2566 มีทั้งหมดประมาณ 100,000 คันฉะนั้น ปี 2567 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องเข้ามาตั้งโรงงานในไทย และผลิตรถยนต์อีวี ให้ทันตามเงื่อนไข โดยหากผลิตทันในปีนี้ ทำเพียง 1 เท่า

แต่ถ้าตั้งโรงงานไม่ทัน ปี 2568 ต้องผลิต 1.5 เท่า นี่จะทำให้เกิดฐานการผลิตในประเทศไทย โดยคาดว่า ค่ายรถยนต์เหล่านี้ จะผลิตคืนทันในปีแรก 80,000-90,000 คัน”

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า ภายในปี 2569 จะต้องมีการผลิต หรือประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทย เนื่องจากรถยนต์อีวีใช้ส่วนประกอบหลัก คือแบตเตอรี่ ฉะนั้นอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยขณะนี้ มีเงินลงทุนสำหรับแบตเตอรี่แล้ว 25,000 ล้านบาท

โดยหากเอาแบตเตอรีชั้นสูง เข้ามาในการผลิตระดับเซลล์ จะต้องเอาพาร์ทต่างๆ ของรถยนต์อีวีมาผลิตด้วย เช่น ระบบบริหารจัดการแบตเตอรีในรถยนต์อีวี การปรับเกียร์ มอเตอร์ เป็นต้น ตอนนี้ก็มีเม็ดเงิน เตรียมลงทุนในระบบดังกล่าวที่จะเข้ามาในไทยอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวว่า ตอนนี้มาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า หรือ EV 3.5 ยังคงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยค่ายรถยนต์บางค่าย ยังเข้าร่วมมาตรการไม่ทัน

ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ร่วมมาตรการ และเซ็นสัญญากับทางกรมสรรพสามิต เพิ่มอีก 8 ราย รวมกับครั้งมาตรการ EV 3.0 แล้วนั้น รวมมีค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการประมาณ 30 ราย

“มาตรการ EV 3.5 เริ่มปี 2567 โดยกรมฯ ให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลดลง เหลือสูงสุด 100,000 บาทต่อคัน จากมาตรการ EV 3.0 ได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน ส่วนในปี 2568 จะลดเงินอุดหนุนเหลือ 75,000 บาทต่อคัน

และอีก 2 ปีต่อไปจะเหลือ เงินอุดหนุน 50,000 บาทต่อคัน และจบมาตรการ ซึ่งเป็นการรักษา อุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดขึ้น”

นายเอกนิติ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ภาพรวมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หากไม่ทำ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน จากอนาคตไทยเคยเป็นท็อป 10 ของโลก ก็อาจจะไม่เหลือเลย

ขณะเดียวกัน แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์อีวีจะลดลง จากการดำเนินมาตรการต่างๆ ของกรมฯ แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในประเทศ คือไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต

กรมสรรพสามิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สงครามราคารถอีวี เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว