ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯธอส. ชี้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยอีสานเข้าสู่การฟื้นตัว

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว คาดหน่วยขายได้ใหม่เพิ่มขึ้น 24.1% เทียบกับปีก่อน ประเมินปี 67 มีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาด 4,860 หน่วย มูลค่ารวมกว่า 2.04 หมื่นล้าน

  • เผย จ.นครราชสีมา มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ อัตราดูซับน่าจะปรับตัวดีขึ้น
  • เปิด 5 ทำเล มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากสุด จอหอ ในเมืองนครราชสีมา ม.ขอนแก่น บ้านใหม่-โคกกรวด และบ้านเป็ด
  • คาดภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือยอดขายจะยังคงอยู่ในระดับทรงตัว

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ครึ่งหลังปี 2566 พบว่า มีจำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ 13,866 หน่วย มูลค่า 51,714 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 2,782 หน่วย มูลค่า 8,856 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 11,084 หน่วย มูลค่า 42,858 ล้านบาท มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด 1,794 หน่วย มูลค่า 9,858 ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน 2,213 หน่วย มูลค่า 8,104 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 11,653 หน่วย มูลค่า 43,611 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 5 จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ 1 และ 2 ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขายถึง 6,157 หน่วย (44.4%) มูลค่า 26,340 ล้านบาท (50.9%) และ 4,694 หน่วย (33.9%) มูลค่า 14,872 ล้านบาท (28.8%) ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด ตามลำดับ แต่จังหวัดขอนแก่นมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด โดยเป็นบ้านจัดสรรและอาคารชุดรวม 736 หน่วย (41.0%) มูลค่า 2,195 ล้านบาท (22.3%) ทั้งนี้เป็นหน่วยบ้านจัดสรร 193 หน่วย (17.7%) มูลค่า 1,154 ล้านบาท (24.0%) และอาคารชุด 543 หน่วย (77.2%) มูลค่า 1,040 ล้านบาท (20.6%) โดยคิดเป็นร้อยละของจำนวนหน่วยและมูลค่าแยกตามประเภทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นยังมีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่สูงสุดที่ 959 หน่วย (43.3%) มูลค่า 2,469 ล้านบาท (30.5%) โดยมีอัตราการดูดซับที่ 3.4% ต่อเดือน รองลงมาเป็นจังหวัดนครราชสีมา 841 หน่วย (38.0%) มูลค่า 4,163 ล้านบาท (51.4%) โดยมีอัตราการดูดซับที่ 2.3% ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีมีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรสูงสุด 2.6% และขอนแก่นมีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดที่ 5.1%”

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)

ทั้งนี้ สำหรับอุปทานโดยรวม ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมด จำนวน 13,866 หน่วย มูลค่า 51,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 5.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 14.5% ตามลำดับ โดยเป็นโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนเพียง 1,794 หน่วย ลดลง -24.7% แต่มีมูลค่า 9,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ ครึ่งหลังปี 2566 จำนวน 11,653 หน่วย มูลค่า 43,611 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 7.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 18.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับ 5 ทำเล ที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากที่สุดใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับ 1 ทำเลจอหอ จำนวน 1,406 หน่วย มูลค่า 4,490 ล้านบาท อันดับ 2 ทำเลในเมืองนครราชสีมา จำนวน 1,034 หน่วย มูลค่า 4,451 ล้านบาท อันดับ 3 ทำเล ม.ขอนแก่น จำนวน 1,023 หน่วย มูลค่า 1,934 ล้านบาท อันดับ 4 ทำเลบ้านใหม่-โคกกรวด จำนวน 980 หน่วย มูลค่า 2,888 ล้านบาท อันดับ 5 ทำเลบ้านเป็ด จำนวน 835 หน่วย มูลค่า 4,097 ล้านบาท โดยระดับราคาที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุดคือ 2.01-3.00 ล้านบาท มีจำนวนถึง 3,591 หน่วย มูลค่า 9,413 ล้านบาท

ทั้งนี้ อุปสงค์โดยรวมพบว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 2,213 หน่วย มูลค่า 8,104 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 1,553 หน่วย มูลค่า 5,917 ล้านบาท และอาคารชุดเพียง 660 หน่วย มูลค่า 2,187 ล้านบาท ซึ่งทำเลที่มีหน่วยขายได้สูงสุด 5 อันดับแรกคือ อันดับ 1 ม.ขอนแก่น จำนวน 525 หน่วย มูลค่า 860.3 ล้านบาท อันดับ 2 จอหอ จำนวน 208 หน่วย มูลค่า 706 ล้านบาท อันดับ 3 หัวทะเล จำนวน 160 หน่วย มูลค่า 421.5 ล้านบาท อันดับ 4 บ้านเป็ด จำนวน 140 หน่วย มูลค่า 643.4 ล้านบาท และอันดับ 5 นิคมลำตะคอง จำนวน 136 หน่วย มูลค่า 781.4 ล้านบาท

“ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ อัตราดูซับน่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้หน่วยเหลือขายลดลง ขณะที่จังหวัดขอนแก่นการขายน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของคอนโดมิเนียม แต่อัตราดูดซับอาจจะลดต่ำลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการใหม่เข้ามาสู่ระบบมาก จังหวัดอุดรธานี ภาพรวมอาจจะไม่ต่างจากปี 2566 แต่อัตราดูดซับน่าจะต่ำลดเล็กน้อย และตลาดรวมยังคงอยู่ในสภาวะทรงตัว แต่หน่วยเหลือขาย อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอัตราดูดซับลดต่ำลง จังหวัดอุบลราชธานี ภาพรวมตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 โดยสรุปแล้วตลาดในภาพรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือยอดขายจะยังคงอยู่ในระดับทรงตัว อาจมีเพียงจังหวัดขอนแก่นเท่านั้นที่มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่ จึงมีความต้องการซื้ออาคารชุดมีความหลากหลายในด้านความต้องการซื้อมากกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเป็นการซื้อเพื่อการพักอาศัยและเพื่อการลงทุน” นายวิชัย กล่าว