บอร์ดค่าจ้าง ชี้ปรับค่าแรงปีละ 2 ครั้ง-เพิ่มเงินบางอาชีพ ไม่ขัดกฎหมาย

บอร์ดค่าจ้าง ชี้ ปรับค่าแรงปีละ 2 ครั้ง-เพิ่มเงินบางอาชีพ ไม่ขัดกฎหมาย เหตุในจังหวัดเดียวกันแต่มีเศรษฐกิจต่างกัน แต่ต้องผ่านมติที่ประชุม

  • เหตุในจังหวัดเดียวกันแต่มีเศรษฐกิจต่างกัน
  • แต่ต้องผ่านมติที่ประชุม

วันที่ 23 ธันวาคม 2566 นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง ในคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 กล่าวถึงกรณีที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศว่าของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงานที่สำคัญคือสุดคือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสูตรการคำนวณพร้อมให้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2567 ว่า เรื่องนี้มีการหารือกันในคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ซึ่งจริงๆ ในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปีละ 2 ครั้ง

แต่ความสำคัญของการปรับคือ การดูแนวทางที่เป็นไปได้ ภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ต้องดูว่าการค้าขายดีขึ้นหรือไม่ ดังนั้น ต้องปรับเมื่อพร้อม ซึ่งในกฎหมายไม่มีกำหนดว่า ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำปีละกี่ครั้ง แต่ให้ทางคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด พิจารณาปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ หากดูแล้วว่าค่าจ้างไม่เหมาะสมก็สามารถเสนอให้มีการปรับค่าจ้างได้

“สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือปัญหาทะเลแดง ที่เป็นเส้นทางเดินเรือหลักในการขนส่งทั่วโลก เป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องการส่งออกของประเทศ เพราะถ้าเดินเรือผ่านไม่ได้ ก็ต้องอ้อมใช้เส้นทางอื่นซึ่งไกลขึ้น ค่าระวังสินค้าก็ต้องเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำสัญญาซื้อค้าส่วนใหญ่จะทำล่วงหน้าเป็นหลายเดือน หรือเป็นปี ฉะนั้น ราคา ณ วันที่ทำการซื้อขาย กับต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะเป็นภาระของผู้ขาย” นายวีรสุขกล่าว

เมื่อถามว่า รมว.แรงงาน ประกาศชัดว่าจะต้องปรับสูตรคำนวณใหม่ และให้มีการปรับค่าได้ในบางพื้นที่และบางกลุ่มอาชีพ ซึ่งอาจจะมีบางอาชีพได้ถึงวันละ 400 บาท นายวีรสุขกล่าวว่า เรื่องการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้ 400 บาท เป็นนโยบายของรัฐ แต่การปรับขึ้นนั้น ทางไตรภาคีต้องดูด้วยว่า ควรหรือไม่ ต้องถามคนจ่ายเงินก็คือนายจ้างด้วย ถ้าเขามีปัญหา แล้วเราไปบีบให้เพิ่มเงินค่าจ้าง สุดท้ายก็จะเป็นปัญหา คนก็จะตกงาน ขณะที่ แนวคิดการเปลี่ยนสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ควรสังคายนาสูตรคำนวณโดยต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ แต่การปรับสูตรนั้นต้องป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ถ้าจะเปลี่ยนสูตรแล้วมาปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 ในทันวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2567 ทางคณะกรรมการค่าจ้างก็ต้องรีบดำเนินการให้เร็ว ซึ่งทางท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแล้วว่าวันที่ 17 มกราคม 2567 จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าหากจะมีการปรับครั้งที่ 2 ก็จะต้องเป็นมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่าควรปรับหรือไม่”ถ้ารัฐบาลแสดงตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้ปประกอบการมีรายได้ดีขึ้น ลูกจ้างอย่างเราทำไมจะไม่อยากได้เงินเพิ่ม ถ้าจะเรามองอยู่ด้านเดียวว่าอยากได้เงินเพิ่มโดยไม่ดูมุมอื่น ก็จะเกิดปัญหากับนายจ้าง” นายวีรสุขกล่าว

นายวีรสุขกล่าวต่อว่า ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นในบางพื้นที่ บางอาชีพ ในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด หรือทั้งจังหวัด ดังนั้น เรื่องนี้สามารถทำได้ เพราะในจังหวัดเดียวกันแต่มีเศรษฐกิจต่างกัน เช่น ระยอง ชลบุรี ที่มีการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างก่อน

เมื่อถามถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรายพื้นที่ จะทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานแล้วทำให้มีความขาดแคลนในบางพื้นที่หรือไม่ นายวีรสุขกล่าวว่า เรื่องนี้ ส่วนตัวตนไม่กังวล เพราะถ้าปรับไม่ให้ตัวเลขลักลั่นกันมาก โดยเฉพาะในชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ที่มีลักษณะของการจ้างงานคล้ายๆ กันในด้านท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม และด้านกสิกรรมเยอะ ถ้าปรับขึ้นบางจังหวัดหรือบางพื้นที่สูงเกินไปก็จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานแน่นอน