“ชวน” อยู่ต่อไม่ไปไหน เผยเป็นหนี้บุญคุณ “พรรคประชาธิปัตย์”

“ชวน” ยืนยันอยู่ต่อไม่ไปไหน เผยเป็นหนี้บุญคุณ ปชป.ลั่นไม่มียุคไหนตกต่ำกว่านี้อีกแล้ว แฉลอบบี้เลือกหัวหน้า พรรคเสียดาย “มาร์ค-มาดามเดียร์” ลงแข่งอย่างสมศักดิ์ศรี ปราม กก.บห. ชุดใหม่อยากเอาพรรคไปหากิน อย่าดิ้นรนร่วมรัฐบาล

  • พรรคเสียดาย “มาร์ค-มาดามเดียร์” ลงแข่งอย่างสมศักดิ์ศรี
  • ปราม กก.บห. ชุดใหม่อยากเอาพรรคไปหากิน
  • อย่าดิ้นรนร่วมรัฐบาล

นายชวน หลีกภัย กล่าวถึงกรณีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรทการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวานนี้ ว่า ยอมรับเสียดายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสาธิต ปิตุเตชะ ที่ลาออกไป ทั้งนี้ ตนเองก็ยังไม่ทราบว่านายสาธิต จะลาออก โดยตนเองได้สอบถามว่าเพราะสาเหตุอะไร ซึ่งได้รับคำตอบว่า เขาล็อคไว้หมดแล้ว มาก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งตนเองก็ได้ขอร้องให้มาร่วมประชุมในวันนั้นก่อน เมื่อมาแล้วก็ไม่คาดคิดว่าจะมีการประกาศลาออก ยอมรับว่าเสียดานเพราะถือว่าเป็นกำลังสำคัญ และหลายคนก็ไลน์มาบอกตนว่าขอลาออกจากพรรค

ซึ่งตนเองก็เข้าใจคนที่ยังรักพรรค ยอมรับว่ามีการลอบบี้ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ได้พูดตรงไปตรงมาในที่ประชุมแม้หลายคนจะไม่สบายใจ ในสิ่งที่ระบุว่าเลขาธิการพรรคสั่งการ และดูแลกันมา 4 ปี พูดง่าย ๆ ว่า อุปถัมภ์เลี้ยงดูกันมาและหลายที่พูดเช่นนี้ ดังนั้นเมื่อเลขาฯ เป็นคนสนับสนุน คนนั้นก็ชนะ เมื่อนายเฉลิมชัย ยอมผิดคำพูดแล้วมาเป็นหัวหน้าพรรคเอง พร้อมประกาศชัดเจนว่าไม่อยากให้พรรค ปชป. เป็นพรรคอะไหล่ ดังนั้นการมีความคิดดิ้นรนเพื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ควรเกิดขึ้น

ยอมรับว่าตนเองก็ห่วงอุดมการณ์ของพรรค ที่เคยดำเนินการ 78 ปีแล้ว ต้องทำการเมืองบริสุทธิ์ และซื่อสัตย์สุจริต โดยตนเองได้ย้ำมาตลอดว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกยอมรับว่าเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่เพราะอยู่นานเสมอไป ถ้าอยู่นานแล้วโคตรโกง โกงทั้งโคตร หัวหน้าติดคุกก็ไม่มีใครยอมรับเป็นสถาบันทางการเมือง

แต่คนรุ่นก่อนหัวหน้าพรรคทุกคนได้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ จึงทำให้พรรคได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็พูดใสที่ประชุมแล้วว่ายืนยันจะมีความซื่อสัตย์สุจริต ตนเองก็ฝากให้ บก.บห. ชุดใหม่ ให้ช่วยกันดูแล เพราะที่ผ่านมามีข่าวลือว่าพรรค ปชป. อยากเข้าไปร่วมรัฐบาลอยู่ไม่น้อย

ส่วน กก.บห. ชุดใหม่ เป็นรุ่นใหม่จะสามารถทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่าในพรรคได้หรือไม่นั้น นายชวน กล่าวว่า ไม่มีคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า เพราะการบริหารพรรค มีกติกา และ กก.บห. มีความสำคัญมีความสำคัญที่จะนำพรรคไม่สู่ความสำเร็จหรือล้มเหลว ยอมรับว่า บก.บห. ชุดที่ผ่านมา โดยการนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน เพราะตน นายอภิสิทธิ์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นผู้สนับสนุนนายจุรินทร์ จึงได้เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค แล้ว 4 ปีคนเหล่านี้

ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มาสู่จุดนี้ ดังนั้น ทุกคนก็ห่วงว่าจะตกต่ำไปมากกว่านี้หรือไม่ แล้วจะมีหรือที่ต่ำกว่านี้ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ สส. บัญชีรายชื่อเพียง 3 คน ซึ่งก็คือการบริหารงานของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดังนั้น ก็ขอฝากให้ยึดอุดมการณ์ของพรรคได้ และกรรมการคนอื่นที่อยู่ในพรรคก็ขอให้ช่วยกันดูแล อย่าให้เขาเอาพรรคไปหากิน

ส่วนบทบาทของตนเองหลังจากนี้ ตนเองจะพยายามประคับประครอง สนับสนุนสิ่งที่ดีให้กับพรรค ซึ่งการที่ตนต้องการหนุนนายอภิสิทธิ์ เพราะคิดว่าพรรค ปชป. อยู่ในช่วงที่จำเป็นที่ต้องมีผู้นำที่สังคมยอมรับ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ไม่เคยด้อยกว่าใคร และมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ นำพาพรรคในช่วงแบบไปให้ดีขึ้นได้ เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้ เพราะยังมีคนห่วงใยพรรค ปชป. และสามารถพึ่งพา

มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ แต่เมื่อเสนอแล้วผลออกมาได้เลือกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากพรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้กำลังใจกัน เช่นเดียวกัน น.ส.วทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ ที่ตนเองก็รู้สึกเสียดาย และชื่นชมในความพยายาม เมื่อเห็นโพยส่งมาให้ดู มีการล็อคเอาไว้ ไม่ให้ยกเว้นข้อบังคับเพื่อสนับสนุนมาดามเดียร์ ซึ่งแม้ผลจะไม่เปลี่ยนแต่ก็น่าจะให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่หัวหน้าพรรคต้องมาตามโพย ซึ่งไม่มีใครเห็นด้วย แม้ที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคมาด้วยระบบการแข่งขันทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน เสียดายสมาชิกคนอื่น ๆ ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะมาดามเดียร์ ที่อยากให้อยู่กับพรรคต่อไป ยืนยันว่าตนเอง เป็นสมาชิกพรรค ปชป. เป็นอดีตนายก และเป็น สส. ในพรรค ก็พยายามที่จะให้คำแนะนำพรรค ซึ่ง 77 ปี ยืนยันไม่ไปไหน เพราะเป็นหนี้บุญคุณพรรค เป็นชาวบ้านคนหนึ่ง เพราะพรรค ปชป. ให้โอกาส ไม่ได้สนใจฐานะตระกูลมาอย่างไร แต่ดูที่ดีพอมาเป็นหัวหน้าพรรคได้ จึงได้ถูกเลือกขึ้นมา ดังนั้นบุญคุณนี้จึงใช้ไม่หมด ก็ต้องตอบแทนบุญคุณในช่วงปลายชีวิตของการเมือง