เขียง หลากสีมีไว้ทำไม แต่ละสีใช้กับอะไรบ้าง

เขียง
เขียงหลายสี มีไว้ทำไม ?


ตอนดูรายการทำอาหาร เคยสงสัยไหม ทำไมเขียงมีหลายสีจัง ? แต่พอมองกลับไปในครัวตัวเอง เห็นแค่เขียงพลาสติกสีเดียวคือสีขาว กับเขียงไม้เท่านั้น วันนี้เราจะพาไปไขข้อสงสัยว่าทำไมเขียงถึงต้องมีหลากสี และแต่ละสีใช้ทำอะไรบ้าง

เขียงหลายสี มีไว้ทำไม ?

ที่จริงแล้วการใช้เขียงหลากสีในครัว โดยเฉพาะในร้านอาหารหรือโรงแรม ไม่ได้ทำไปเพื่อความสวยงาม แต่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาความสะอาดไม่ให้มีการปนเปื้อนของอาหาร

เพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างอาหาร จนเกิดเป็นอันตรายกับผู้ที่บริโภคเข้าไป จึงมีการแบ่งประเภทการใช้งานออกเป็น 6 ประเภท หรือ 6 สีด้วยกัน

เขียง 6 สี แต่ละสี มีไว้ทำอะไรกันบ้าง

  • เขียงสีแดง ใช้สำหรับเนื้อแดง สัตว์บก ที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว
  • เขียงสีเหลือง ใช้สำหรับสัตว์ปีกทุกชนิด ที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อนก
  • เขียงสีน้ำตาล ใช้สำหรับเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วทุกชนิด นำมาหั่นเพื่อเตรียมประกอบอาหารขั้นต่อไป
  • เขียงสีฟ้า ใช้สำหรับเนื้อสัตว์ทะเลทุกชนิด เช่น ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอย ปู
  • เขียงสีเขียว ใช้สำหรับหั่นผักและผลไม้ ทั้งสุกและดิบ
  • เขียงสีขาว ใช้สำหรับหั่นขนมปัง ชีส ผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่ และผลิตภัณฑ์จากนม

ช้าก่อน “เขียงสีม่วง” ก็มีนะ

นอกจากเขียง 6 สีที่เราได้พูดถึงไปแล้ว ล่าสุด “เขียงสีม่วง” เอง ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มักใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากกลูเตน แทนการใช้เขียงสีขาวที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมปัง เพื่อป้องกันปัญหาการแพ้กลูเตนในบางราย

ครัวบ้านต้องใช้เขียงหลากสีไหม ?

การใช้เขียงในครัวเรือนนั้น ไม่ต้องซื้อครบทั้ง 6 สีก็ได้ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตมักออกเซ็ทเขียง 4 สี ที่เหมาะกับการใช้ในบ้านได้แก่ เขียงสีเขียว เขียงสีเหลือง เขียงสีฟ้า และเขียงสีแดง แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ดูแลเขียงอย่างไรให้สะอาด?

ไม่ว่าคุณจะใช้เขียงกี่สี สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาเขียงให้สะอาด หากเขียงเริ่มมีรอยลึกหรือร่องเยอะ ควรเปลี่ยนใหม่ เพราะร่องเหล่านั้นอาจกลายเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้

เพียงเท่านี้ ก็สามารถใช้งานเขียงให้ถูกประเภท และมั่นใจได้ว่าอาหารที่ปรุง จะสะอาดและปลอดภัยทั้งกับตัวเองและคนที่เรารัก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : NTS Mart และ food hygiene company

เรื่องน่ารู้ : ไข่ไก่ เก็บได้นานแค่ไหน พร้อมวิธีดูความสดของไข่